กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมชนิดหนึ่งในสังคมไทย จัดได้ว่าเป็นเครื่องดื่มพื้นฐานที่มีไว้ติดบ้านหรือสำนักงาน ปัจจุบันมีร้านกาแฟจำนวนมาก เนื่องจากร้านกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่เห็นได้จากรายงานของ Euromonitor ที่แสดงตัวเลขของตลาดกาแฟมีมูลค่าสูงถึง 42,537 ล้านบาท ในปี 2563 (ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, 2564) สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้คร่าชีวิตของคนมากมายทั่วทั้งโลก รวมถึงการล้มหายตายจากไปของภาคธุรกิจซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจร้านกาแฟเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ร้านกาแฟหลายร้านมีการปรับตัวในเรื่องของการตลาดเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่บางร้านที่ไม่พร้อมปรับตัว หรือหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็มีอันต้องยุติกิจการไปก็มี จากผลกระทบดังกล่าวประกอบกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ ทำให้เกิดรูปแบบการปรับตัวชีวิตวิถีใหม่ขึ้น (New Normal) ซึ่งกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคด้วย ในส่วนของภาคธุรกิจร้านกาแฟ ก็มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคบางส่วนหันมาให้ความสนใจในกาแฟในลักษณะการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการชงกาแฟ มีการปรับเปลี่ยนเป็นการบริโภคแบบ Homebrew หรือการชงเอง ดื่มเอง เป็นบาริสต้าเองเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจร้านกาแฟต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การให้บริการแบบซื้อแล้วนำกลับบ้าน (Take away) เป็นรูปแบบการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการเพื่อรักษายอดขายของร้านเอาไว้ ไม่ต่างกับธุรกิจอาหารอื่น ๆ ที่ต้องพยุงให้ร้านอยู่รอดเช่นกัน นอกจาก Take away แล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านการตลาดที่ร้านกาแฟต้องปรับตัว ก็คือการส่งกาแฟแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) โดยให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยที่ลูกค้าสามารถดูรายละเอียดสินค้าได้จากที่บ้าน แล้วกดซื้อได้เลยโดยไม่ต้องเดินทางมาที่ร้านด้วยตัวเอง ซึ่งจากกลยุทธ์นี้สามารถทำให้ร้านกาแฟหลายร้านเพิ่มยอดขายได้มากยิ่งขึ้น