จำนวนการค้นคว้าอิสระ ( 14 )

การยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร
การยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของลักษณะด้านประชากรศาสตร์, ส่วนประสมทางการตลาดบริการที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคือกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน ซึ่งกำหนดขนาดตัวอย่างตามวิธีของ W.G. Cochran ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่, ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย,และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การทดสอบกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นอิสระจากกัน (T-test), การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient) ผลการศึกษาพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง, อายุระหว่าง 20–29 ปี, สถานภาพโสด, ระดับการศึกษาปริญญาตรี, อาชีพเป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้างเอกชน, และระดับรายได้ 20,001–30,000 บาท มีความคิดเห็นต่อภาพรวมส่วนประสมทางการตลาดบริการอยู่ระดับมาก โดยที่ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นมากที่สุดคือด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และความคิดเห็นต่อภาพรวมการยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับมาก โดยที่ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นมากที่สุดคือด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า เพศที่แตกต่างกัน มีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกัน ด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ และด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกันด้านการรับรู้ถึง ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้งาน ด้านการรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน ด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ และด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และระดับรายได้ที่ แตกต่างกันมีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกันด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติที่ระดับ 0.05 และภาพรวมส่วนประสมทางการตลาดบริการ มีความสัมพันธ์กับภาพรวมการ ยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ด้านการรับรู้ถึง ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้งาน, การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน, ทัศนคติที่มีต่อการใช้, และพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ ที่ระดับความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง

2565
การบริหารความเสี่ยงที่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร
การบริหารความเสี่ยงที่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร2) เพื่อศึกษาการบริหารความเสี่ยงที่มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร 3) เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิผลการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเก็บข้อมูลจากผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธุรกิจบริการ) ที่จดทะเบียนนิติบุคคลในเขตกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 400 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ เชิงพรรณนา ได้แก่ การหาค่าร้อยละ การหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สถิติเชิงอนุมาน โดยใช้การทดสอบความแตกต่างโดยใช้ค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ด้านรูปแบบธุรกิจ จำนวนพนักงานมีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร แตกต่างกันการบริหารความเสี่ยง ด้านกลยุทธ์ ด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร มีการบริหารความเสี่ยงในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และการบริหารความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ด้านการเงิน ด้านการปฏิบัติงาน ด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย มีการบริหารความเสี่ยงอยู่ในระดับมาก และมีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันในระดับความสัมพันธ์สูง สรุปได้ว่าการบริหารความเสี่ยงมีความสัมพันธ์เชิงบวก และมีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเขตกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ทั้งนี้ หากผู้บริหารมีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีมาตรการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม จะทำให้การบริหารงานมีความราบรื่นมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และส่งผลให้การดำเนินงานของธุรกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

2565
ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด-19

การค้นคว้าอิสระครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาลักษณะประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 2) เพื่อศึกษาการรับรู้ต่อบริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อบริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่ใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ผลการศึกษาพบว่า 1) ความแตกต่างทางด้านลักษณะประชากรศาสตร์พบว่ามีความแตกต่างทางนัยสำคัญตั้งแต่ สถานภาพ และ ระดับการศึกษา ที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ในเขตกรุงเทพมหานครในลักษณะปัจจัยส่วนบุคคลทางด้านประชากรศาสตร์ 2) การรับรู้ต่อบริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสด ในด้านความแตกต่างของช่องทางการรับรู้ข่าวสาร ความแตกต่างของรูปแบบสังคมไร้เงินสด และความแตกต่างของสถานที่ที่ใช้ในรูปแบบสังคมไร้เงินสด ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 อย่างมีนัยสำคัญ 3) ความพึงพอใจต่อบริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสด(6Ps) ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 อย่างมีนัยสำคัญ จากการทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) พบว่าความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อบริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสด (6Ps) ที่แตกต่างกัน มีผลต่อพฤติกรรมการใช้บริการในรูปแบบสังคมไร้เงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด -19 แตกต่างกัน ทางด้านราคา ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านการให้บริการแบบเจาะจงและด้านการรักษาความเป็นส่วนตัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้ร้อยละ 67.7 (R square = 0.677)

2565
ประสิทธิภาพของข้อมูลบัญชีบริหารและสารสนเทศทางบัญชีบริหารที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประสิทธิภาพของข้อมูลบัญชีบริหารและสารสนเทศทางบัญชีบริหารที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของประสิทธิภาพของข้อมูลบัญชีบริหารและสารสนเทศทางบัญชีบริหารที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีของบริษัท จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 134 บริษัท วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษา พบว่า ประสิทธิภาพของข้อมูลบัญชีบริหารมีความสัมพันธ์ต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01สารสนเทศทางการบัญชีบริหารมีความสัมพันธ์ต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

2565
จิตวิทยาและส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงานโดยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
จิตวิทยาและส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงานโดยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา จิตวิทยาและส่วนประสมทางการตลาดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน โดยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นงานวิจัยเชิงสำรวจกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่เคยซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน โดยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ จำนวน 400 คนจาก เขตราชเทวี เขตพญาไท และเขตจตุจักร คำนวณหาจำนวนตัวอย่าง โดยวิธีตาราง Taro Yamane เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ การวิเคราะห์ ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่, ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมานได้แก่ การทดสอบค่า T-test, F-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA)และ Multiple Regression Analysis ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุมากกว่า 40 ปีสถานภาพโสด อาชีพ ข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจ การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท จิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน มากที่สุด คือด้านการรับรู้ รองลงมา คือ ความเชื่อและทัศนคติ ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนประสมทางการตลาด ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน มากที่สุด คือ ด้านผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ ด้านราคา และการส่งเสริมการตลาด ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ลักษณะประชากรศาสตร์ด้านอาชีพ และรายได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน ส่วนจิตวิทยา ด้านแรงจูงใจ การรับรู้ ความเชื่อและทัศนคติและด้านบุคลิกภาพ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน ส่วนประสมทางการตลาด ด้านราคา การจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการตลาด ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงานระดับความเชื่อมั่น 95% ระดับนัยสำคัญที่ 0.05 จากผลการวิจัย การจำหน่ายเสื้อผ้ากลุ่มชุดทำงาน โดยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ควรเน้นไปยังกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ โดยเน้นด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา และจัดรูปแบบกิจกรรมการขายเพื่อส่งเสริมการจัดจำหน่าย และเน้นบริการความสะดวกในรูปแบบการจำหน่ายออนไลน์จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของกลุ่มลูกค้าได้อย่างดี

2565