จำนวนการค้นคว้าอิสระ ( 2 )
การเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุของพนักงานกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัย” (Aged Society) การเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุมีความสำคัญต่อพนักงานกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุของพนักงานกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ใช้แบบสอบถาม เก็บรวบรวมข้อมูลจากพนักงานระดับปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจสุรา XYZ จำนวน 303 คน วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมุติฐานด้วยค่า t-Test และ One-Way ANOVA (F-Test) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 51-55 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รายได้ต่อเดือนมากกว่า 55,001 บาท มีสถานภาพสมรส ตำแหน่งงานระดับ 6-7 มีที่พักอาศัยเป็นของตนเอง และสมาชิกในครอบครัวมีจำนวน 2 คน กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุในทุกด้านระดับมาก ได้แก่ ด้านสัมพันธภาพในครอบครัว (x̄ 4.37) ด้านการเงิน (x̄ = 4.11) ด้านร่างกาย (x̄ = 3.99) ด้านที่อยู่อาศัย (x̄ = 3.87) ด้านจิตใจ (x̄ = 3.86) ด้านประกันชีวิต (x̄ = 3.72) ด้านกิจกรรมและการใช้เวลาว่าง (x̄ = 3.71) ตามลำดับผลการทดสอบสมมติฐานเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่มีปัจจัยส่วนบุคคลต่างกัน มีการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุต่างกัน พบว่า 1) เพศและที่พักอาศัยต่างกัน มีการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุด้านสัมพันธภาพในครอบครัวต่างกัน 2) ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน ระดับตำแหน่งงาน ที่พักอาศัย และจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกัน มีการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุด้านการทำประกันชีวิตต่างกัน 3) รายได้ต่อเดือนและจำนวนสมาชิกในครอบครัวต่างกันมีการเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณอายุด้านสุขภาพจิตใจต่างกัน
สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้าที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้าที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (Blue Line) และสายรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) จำนวน 200 คน เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วย t – test การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – Way ANOVA) และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 20 – 25 ปี สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. หรือเทียบเท่า มีประสบการณ์ทางานน้อยกว่า 1 ปี และระหว่าง 1 – 3 ปี ซึ่งปฏิบัติงานสังกัดหน่วยงานสายสีน้ำเงิน (Blue Line) กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นโดยรวมต่อสมรรถนะและประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ในระดับมาก ( = 3.97 และ = 4.01) และผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า 1) ผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้าที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษาประสบการณ์ทำงาน และสังกัดหน่วยงาน ที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้าแตกต่างกัน 2) สมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ สมรรถนะด้านทักษะ สมรรถนะด้านทัศนคติ และสมรรถนะด้านคุณลักษณะพึงประสงค์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานซ่อมบำรุงระบบอาคารสถานีรถไฟฟ้า โดยมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05