จำนวนการค้นคว้าอิสระ ( 3 )
การยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของลักษณะด้านประชากรศาสตร์, ส่วนประสมทางการตลาดบริการที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคือกลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน ซึ่งกำหนดขนาดตัวอย่างตามวิธีของ W.G. Cochran ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่, ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย,และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การทดสอบกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มที่เป็นอิสระจากกัน (T-test), การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient) ผลการศึกษาพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง, อายุระหว่าง 20–29 ปี, สถานภาพโสด, ระดับการศึกษาปริญญาตรี, อาชีพเป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้างเอกชน, และระดับรายได้ 20,001–30,000 บาท มีความคิดเห็นต่อภาพรวมส่วนประสมทางการตลาดบริการอยู่ระดับมาก โดยที่ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นมากที่สุดคือด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และความคิดเห็นต่อภาพรวมการยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับมาก โดยที่ด้านที่มีค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นมากที่สุดคือด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า เพศที่แตกต่างกัน มีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกัน ด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ และด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกันด้านการรับรู้ถึง ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้งาน ด้านการรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน ด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ และด้านพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และระดับรายได้ที่ แตกต่างกันมีการยอมรับเทคโนโลยี 5G ที่แตกต่างกันด้านทัศนคติที่มีต่อการใช้ อย่างมีนัยสำคัญทาง สถิติที่ระดับ 0.05 และภาพรวมส่วนประสมทางการตลาดบริการ มีความสัมพันธ์กับภาพรวมการ ยอมรับเทคโนโลยี 5G ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ด้านการรับรู้ถึง ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้งาน, การรับรู้ถึงความง่ายในการใช้งาน, ทัศนคติที่มีต่อการใช้, และพฤติกรรมความตั้งใจในการใช้ ที่ระดับความสัมพันธ์ค่อนข้างสูง
การยอมรับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่าน แชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ สินค้าผ่านแชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก และพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ที่ส่งผลต่อการ ตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านแชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative Method) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ใช้ เฟซบุ๊กในประเทศไทยที่มีประสบการณ์ในการซื้อสินค้าผ่านแชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบสโนว์บอล (Snowball Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถามออนไลน์ สถิติที่ใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น คือ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอ้างอิงที่ใช้ในการทดสอบ สมมติฐาน คือ สถิติสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ที่ส่งผลต่อการ ตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านแชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก พบว่า ผู้ที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง มีอายุน้อยกว่า 21 ปี มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี สถานภาพโสดมีอาชีพนักเรียน/ นักศึกษา มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท และผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า การยอมรับเทคโนโลยี ด้านความง่ายในการใช้งาน ด้านการรับรู้ถึงประโยชน์ และด้านการรับรู้ถึงความเสี่ยง และ พฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ด้านประสิทธิภาพของสารสนเทศ ด้านอารมณ์ออนไลน์ ด้านความต่อเนื่อง และด้านความบันเทิงออนไลน์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านแชทบอทร้านค้าบนเฟซบุ๊ก ในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิคการซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน: กรณีศึกษา บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย
การค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรในงานก่อสร้างของกรณีศึกษาบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย ด้วยการออกแบบแนวทางการซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกันเครื่องจักรในงานก่อสร้าง ซึ่งได้เก็บข้อมูลของเครื่องจักรที่มีความสำคัญในงานก่อสร้างจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ รถเครน รถเฮี๊ยบ รถแบคโฮ รถแทรกเตอร์ รถบดสั่นสะเทือน รถบรรทุกน้ำ และ รถเกลี่ยดิน โดยเริ่มต้นจากทำการเก็บข้อมูลที่เครื่องจักรหยุดทำงาน และทำการวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เครื่องจักรหยุดทำงานผ่านแผนภูมิก้างปลาและแผนภูมิพาเรโต ทำการออกแบบแนวบำรุงรักษาเชิงป้องกันและนำแนวทางไปลงพื้นที่ปฏิบัติงาน จากนั้นประเมินผลก่อนและหลังการปรับปรุงด้วยการหาระยะเวลาเฉลี่ยก่อนการเสียหาย และประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร ซึ่งผลค่าประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรก่อนการปรับปรุง มีค่าเท่ากับร้อยละ 65.94ค่าระยะเวลาเฉลี่ยก่อนการเสียหายเท่ากับ 8,462 ชั่วโมง ค่าประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรหลังการปรับปรุง มีค่าเท่ากับร้อยละ 91.87 ค่าระยะเวลาเฉลี่ยก่อนการเสียหายเท่ากับ 16,778 ชั่วโมงดังนั้น พบว่า ค่าประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.93 และระยะเวลาเฉลี่ยก่อนการเสียหายเพิ่มขึ้น 8,316 ชั่วโมง หรือร้อยละ 3.57 ในการปฏิบัติตามแนวทางการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเครื่องจักรของบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น