
การวิจัยเรื่อง ประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพพื้นที่ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในจังหวัดกาญจนบุรี มีวัตถุประสงค์ คือ ประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงาน ผลผลิต ของโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในจังหวัดกาญจนบุรี และศึกษาแนวทางในการพัฒนาโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในจังหวัดกาญจนบุรี การวิจัยนี้เป็นแบบวิจัยแบบผสมผสาน โดยเชิงปริมาณเลือกใช้กลุ่มตัวอย่างคือนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 400 คน ใช้เครื่องมือแบบสอบถามปลายปิด ใช้สถิติพรรณนาและอนุมารในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงกลุ่มกับผู้ให้ข้อมูล จำนวน 28 คน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน ประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการเชิงอุปนัย ผลการวิจัย พบว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเพศส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และมีรายได้อยู่มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน โดยมีระดับความเห็นต่อโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในจังหวัดกาญจนบุรีในภาพรวมในระดับในระดับมาก เรียงอันดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านการประเมินผลผลิต ด้านการประเมินกระบวนการ และด้านบริบท ซึ่งพบว่าปัจจัยส่วนบุคคล ด้านระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ส่งผลให้มีระดับความเห็นต่อโครงการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในจังหวัดกาญจนบุรี มี 3 ข้อ คือ 1) ควรที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบการสื่อสารข้อมูลและป้อนข้อมูลกลับที่ชัดเจน 2) ควรสนับสนุนจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของบุคลากรในชุมชน ในการใช้งานและการพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอน และ 3) ควรสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดประชุมร่วมกับชุมชน การสร้างเครือข่ายการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการรับรู้และความผูกพันร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน