การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสำคัญทางวัฒนธรรมและทรัพยากรมรดกของชุมชนเรือนแพแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี 2) ศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับชุมชนแพแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และ 3) เสนอนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวกับหน่วยงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ประชาชนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนเรือนแพแม่นํ้าสะแกกรังเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมเป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาของสังคมในเรื่องคุณค่าและความต้องการของสังคมที่ตระหนักถึงการดำรงชีวิตที่มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะของสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานตลอดจนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางจิตใจ เรือนแพที่แม่น้ำสะแกกรังยังเป็นเรือนแพที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยและยังคงความเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่มีเสน่ห์และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ ชุมชนเรือนแพสามารถพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับปลาแรด การทำอาหารจากปลาแรดโดยการประสานกับที่พักหรือโฮมสเตย์ให้มีการเรียนรู้ลงมือทำเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวต้องการการสนับสนุนจากงานพัฒนาชุมชนในการออกแบบกิจกรรมหรือการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน นโยบายหรือแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว ชุมชนควรมีการสร้างเรื่องราวของชุมชนก่อนสร้างเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อออนไลน์ และการทำโมเดลการท่องเที่ยวให้เห็นภาพเบื้องต้นรวมทั้งการรวบรวมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน