การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในการตัดสินใจ ซื้ออาหารของผู้บริโภค ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 2) ศึกษาระดับความสำคัญของปัจจัย ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออาหาร หลังจากรับชมรีวิวจากสื่อออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์วิกฤต โควิด-19 3) เปรียบเทียบการตัดสินใจซื้ออาหาร หลังจากรับชมรีวิวจากสื่อออนไลน์ จำแนกตามลักษณะทางประชากรศาสตร์ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และ 4) หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจกับการตัดสินใจซื้ออาหาร หลังจากรับชมรีวิวผ่านสื่อออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริโภคที่ เคยรับชมรีวิวอาหารจากสื่อออนไลน์ และเคยซื้ออาหารอย่างน้อย 1 ครั้ง จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม และสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ F-test และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่าย ผลการวิจัย มีดังนี้ 1) พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในการรับชมรีวิวร้านอาหารของผู้บริโภค พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกรับชมรีวิวจากช่อง ยูทูป (YouTube) ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการสั่งอาหารออนไลน์ โดยใช้เวลาในการรับชมประมาณ 15 – 30 นาที จากที่พักอาศัยของตนเองในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งช่วงเวลา 16.01 น. – 20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่นิยมรับชมกันมากที่สุด ใช้บริการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ผ่านสื่อออนไลน์น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารอยู่ที่ 101 – 200 บาทต่อครั้ง 2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออาหารหลังจากรับชมรีวิวจากสื่อออนไลน์ภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่ามีความสำคัญอยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยมากไปน้อย คือ ด้านเนื้อหาและการนำเสนอ ด้านผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ และด้านรูปแบบการนำเสนอ 3) ลักษณะทางประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่แตกต่าง มีการตัดสินใจสั่งซื้ออาหารหลังการรับชมรีวิว จากสื่อออนไลน์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจกับการตัดสินใจซื้ออาหาร หลังจากรับชมรีวิวผ่านสื่อออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์วิกฤต โควิด-19 โดยภาพรวมมีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับสูง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อพิจารณา รายด้าน พบว่า ด้านเนื้อหาและการนำเสนอ ด้านรูปแบบการนำเสนอ มีความสัมพันธ์ในระดับสูงมาก ส่วนด้านผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์มีความสัมพันธ์ในระดับสูงและไปในทิศทางเดียวกัน