การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ประกอบการรายย่อยธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่า 2) ศึกษาการดำเนินธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าของผู้ประกอบการรายย่อย 3) หาความสัมพันธ์การดำเนินธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดนัดกลางคืน กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ 4) นำเสนอแนวทางการพัฒนาธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดนัดกลางคืน กรุงเทพมหานคร เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ประกอบการรายย่อยธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าในตลาดนัดกลางคืน กรุงเทพมหานคร โดยเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 16 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบไคสแควร์ ผลการศึกษา พบว่า ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 31 – 40 ปี มีสถานภาพสมรสคือโสด ระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญาตรี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000 – 45,000 บาท มีวัตถุดิบหลักที่ได้รับความนิยมคือ เนื้อสัตว์/เครื่องในสด ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหารคือ มีการดูแลรักษาความสะอาดภายในร้านอย่างสม่ำเสมอ ถังขยะภายในร้านมีฝาปิดมิดชิด และมีการรักษามาตรฐานวัตถุดิบให้คงคุณภาพสดใหม่ ช่วงระยะเวลาที่จำหน่ายได้มากที่สุดคือ เวลา 18.00 น. – 20.00 น. รูปแบบค่าเช่าร้านคือ สัญญาเช่ารายเดือน ทำเลที่ตั้งของร้านให้ความสำคัญคือ มีชื่อร้านเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ร้านจำง่าย กลยุทธ์การขายให้ความสำคัญคือ มีการจัดวางวัตถุดิบเดียวกันให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน แยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการเลือกซื้อ และต้นทุนเฉลี่ยต่อวันคือ 3,001 – 4,500 บาท ผลการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ มีความสัมพันธ์กับการดำเนินธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าของผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดนัดกลางคืน กรุงเทพมหานคร พบว่า เพศมีความสัมพันธ์กับทำเล ที่ตั้งของร้าน สถานภาพสมรสมีความสัมพันธ์กับรูปแบบค่าเช่าร้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และแนวทางการพัฒนาการดำเนินธุรกิจอาหารปิ้งย่างหม่าล่าของผู้ประกอบการรายย่อย มีดังนี้ 1) ควรเลือกวัตถุดิบที่มีความสะอาด สดและใหม่ 2) ควรดูแลความสะอาดสถานที่และอุปกรณ์อาหารอย่างสม่ำเสมอ 3) จัดทำป้ายชื่อร้านให้เห็นชัดเจน 4) ควรเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางสื่อออนไลน์มากขึ้น และมีการจัดทำบัญชีเงินหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ