งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาอัตลักษณ์อาหารพื้นบ้าน ของชาวไทยเชื้อสายเขมร จังหวัดสุรินทร์ 2) เพื่อเป็นแนวทางการธำรงรักษาอัตลักษณ์อาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร จังหวัดสุรินทร์ และ 3) เพื่อจัดทำตำรับอาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร จังหวัดสุรินทร์ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในชุมชนวัดศาลาลอยบ้านเจ็มเนียง และชุมชนบ้านปรือเกียน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 5 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 4 ท่าน รวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และแบบประเมินผลการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส ผลการวิจัยพบว่า 1) อัตลักษณ์อาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมรจังหวัดสุรินทร์ใน 3 พื้นที่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต คือ อัตลักษณ์การตั้งถิ่นฐานและลักษณะที่อยู่อาศัยอัตลักษณ์ด้านชาติพันธ์ที่มีการปรับตัวเรียนรู้ความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์ ประเพณี รวมไปถึง รูปแบบของการรับประทานอาหาร ส่วนอัตลักษณ์อาหารพื้นบ้าน และวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารนั้นกาลังอยู่ในสภาวะที่ใกล้สูญหาย 2) แนวทางการธำรงรักษาอัตลักษณ์ คือ การเผยแพร่ข้อมูลเรื่องราวอาหารพื้นบ้าน และวิธีการประกอบอาหารให้คงอยู่ ด้วยการจัดทำตำรับอาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร จังหวัดสุรินทร์ มีจำนวนทั้งหมด 9 รายการ ได้แก่ ละแวกะดาม (แกงปูนา), ซัลลอเจก (แกงกล้วย), แกงฮอง, เมี่ยงขนุน, เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าว), เบาะเจราะมะออม (น้ำพริกผักแขยง), เบาะอังแกบ (น้ำพริกกบ), เบาะบายกรีม (ข้าวตู) และอันซอมกะบ็อง (ข้าวต้มด่าง) 3) การจัดทำตำรับอาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมรจังหวัดสุรินทร์ พบว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัสของ อาหารพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายเขมร จังหวัดสุรินทร์ โดยรวมอยู่ในระดับชอบมาก( X = 4.77) เมื่อพิจารณาเป็นรายการอาหารจากมากไปหาน้อย พบว่า ค่าเฉลี่ยเท่ากันทุกด้าน ได้แก่ ซัลลอเจก (แกงกล้วย), แกงฮอง, เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าว) และเบาะบายกรีม (ข้าวตู) อยู่ในระดับชอบมาก ( X = 5.00) รองลงมา ได้แก่ เบาะเจราะมะออม (น้ำพริกผักแขยง) อยู่ในระดับชอบมาก ( X = 4.75) รองลงมา ได้แก่ ละแวกะดาม (แกงปูนา) อยู่ในระดับชอบมาก ( X = 4.68) และน้อยที่สุด ได้แก่ เมี่ยงขนุน, เบาะอังแกบ (น้ำพริกกบ) และอันซอมกะบ็อง (ข้าวต้มด่าง) อยู่ในระดับชอบมาก ( X = 4.50) ตามลำดับ