การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการของโครงการอาหารกลางวัน 2) วิเคราะห์การรับรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของโครงการอาหารกลางวัน และ 3) พัฒนาแผนภาพความรู้แบบมีส่วนร่วมด้านคุณค่าทางโภชนาการและสุขาภิบาลอาหารของโครงการอาหารกลางวัน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 – 6 ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 8 – 12 ปี ของโรงเรียน 4 ระดับ ได้แก่ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 340 คน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญด้วยความสมัครใจเพื่อให้ได้ตรงตามจำนวนที่ต้องการ เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถามและแบบทดสอบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 1 ระดับความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการโครงการอาหารกลางวัน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 63.82) ผลการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่ 2 การรับรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของโครงการอาหารกลางวัน พบว่า นักเรียนมีการรับรู้เกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวันอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 78.24) สำหรับ การรับรู้เกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหารอยู่ในระดับดีมาก คิดเป็นร้อยละ 100 และ ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 3 การพัฒนาแผนภาพความรู้ด้านคุณค่าทางโภชนาการและสุขาภิบาลอาหารของโครงการอาหารกลางวันจากผลการวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยได้สร้างแผนภาพความรู้ เรื่อง อิ่ม อร่อย ครบโภชนาการและอาหารปลอดภัยในโครงการอาหารกลางวันเพื่อน้อง สำหรับใช้ในการส่งเสริมการรับรู้และการตระหนักต่อความสำคัญของการรับประทานอาหารกลางวันโรงเรียน