
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียน 2) การเลือกศึกษาต่อหลักสูตร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ของนักเรียน และ 3) เปรียบเทียบระดับความสำคัญของการเลือกศึกษาต่อหลักสูตร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ในจังหวัดสุพรรณบุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2566 จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 316 คน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการศึกษา พบว่า 1) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เลือกศึกษาต่อหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 64.24 ที่เลือกเรียนแผนวิทย์- คณิต ร้อยละ 25.32 มีเกรดเฉลี่ยสะสม 3.51 ขึ้นไป ร้อยละ 47.46 ที่มีความถนัดและความชอบด้านเบเกอรี่ ร้อยละ 30.38 โดยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ร้อยละ 95.89 ซึ่งได้รับรู้ข่าวสารการศึกษาต่อผ่านช่องทาง Facebook และการแนะแนวศึกษาต่อของสถาบันการศึกษา ร้อยละ 23.73 และผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 15,001 - 25,000 บาท ร้อยละ 29.43 2) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ความสำคัญต่อการเลือกศึกษาต่อหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ จังหวัดสุพรรณบุรีโดยรวม อยู่ในระดับมาก (X̅ = 4.29, S.D. = 0.682) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านสรุปได้ว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตร (X̅ = 4.33, S.D. = 0.616) รองลงมาคือ ด้านชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย (X̅ = 4.32, S.D. = 0.682) และน้อยที่สุดคือ ด้านค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร (X̅ = 4.23, S.D. = 0.633) และ 3) แผนการเรียน เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ความถนัดและความชอบเป็นพิเศษ และช่องทางการรับรู้ข่าวสารการศึกษาต่อของนักเรียนแตกต่างกัน มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ในจังหวัดสุพรรณบุรีแตกต่างกันยกเว้นเพศ ภูมิลำเนา และรายได้ของผู้ปกครองเฉลี่ยต่อเดือนของนักเรียนแตกต่างกัน มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อหลักสูตรสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ในจังหวัดสุพรรณบุรีไม่มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05