ห้อม พันธุ์ไม้ท้องถิ่นจังหวัดแพร่ พบเห็นต้นห้อมขึ้นเองได้ทั่วไปทั้งจังหวัด แต่ที่มีการปลูกกันมากในชุมชนพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เช่น บ้านนาตอง บ้านนาคูหา ในอดีตจนถึงปัจจุบันนิยมใช้ห้อมเป็นยารักษาโรคและย้อมสีสิ่งทอ กลุ่มชาวไทยพวนในแถบบ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ เป็นต้นกำเนิดของการนำมาย้อมผ้า โดยใช้หม้อเป็นภาชนะสำหรับบรรจุน้ำย้อม จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า ผ้าหม้อห้อม กระบวนการย้อมผ้าของชาวบ้านจะเริ่มจากการนำลำต้นและใบของห้อมมาหมักในน้ำให้เป็นสีน้าเงินเข้ม ฟ้าเข้ม แล้วซวกหรือตำเพื่อสกัดสีจนน้ำสีจากห้อมมีความข้น จึงนำมาใช้ในการย้อมผ้าหรือที่เรียกว่าการก่อห้อม โดยจะมีการผสมน้ำด่างเพื่อช่วยในการยึดติดสีของห้อมบนเส้นด้ายก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้า ด้วยขั้นตอนกระบวนการสกัดสีหรือก่อห้อมนั้นไม่มีวิธีการที่แน่นอน มีความซับซ้อนยุ่งยาก และยังต้องอาศัยความชำนาญความสามารถเฉพาะตัวของผู้ย้อม จึงมีส่วนทำให้มีการสืบทอดการทำผ้าหม้อห้อมที่ใช้สีย้อมจากธรรมชาติมีน้อยลง การย้อมผ้าด้วยสีห้อมจากธรรมชาติต้องใช้เวลานาน จึงทำให้ผ้าหม้อห้อมจึงมีราคาค่อนข้างสูงและยังผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาด อีกทั้งผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูก จึงทำให้ปัจจุบันมีการผลิตผ้าหม้อห้อมจากสีสังเคราะห์ อีกทั้งเป็นการพิมพ์ลาย การย้อมผ้าทั้งผืนแทนการย้อมเส้นด้าย หรือ การตัดเย็บเป็นเสื้อแล้วค่อยนำไปย้อมทั้งตัวมากขึ้น แหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง อาจเรียกได้ว่าเป็นถนนสายสีน้าเงินจากลักษณะสีของผ้าหม้อห้อม ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด จากห่วงโช่อุปทานของผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่ที่มีเส้นทางเชื่อมโยงตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบในการผลิตผ้าหม้อห้อมสีธรรมชาติ กระบวนการขั้นตอนการผลิต การขนส่ง ช่องทางการจำหน่ายไปถึงผู้บริโภค ซึ่งจากห่วงโซ่นี้ แสดงให้เห็นถึงแนวทางในการพัฒนาผ้าหม้อห้อมจากสีธรรมชาติให้มีศักยภาพมากขึ้น ถ้าได้รับการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อมให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันสมัย สนับสนุนการใช้ผ้าหม้อห้อมย้อมสีธรรมชาติจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้วยปราชญ์ของชุมชน และสานต่อด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สอดรับกับบริบทของสังคมปัจจุบัน จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อมย้อมสีธรรมชาติ และยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ในท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้สารเคมีสีย้อมสังเคราะห์ในระยะยาวอีกด้วย