การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบปัจจัยด้านลักษณะประชากรกับคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ 2) ศึกษาการเตรียมความพร้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และ 3) ศึกษาการรับรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่าง คือพนักงานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ ตำแหน่งที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนตัวแปร เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา รายได้ต่อเดือนที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการไม่แตกต่างกัน 2) ปัจจัยด้านการเตรียมความพร้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านจิตใจ ด้านการใช้เวลาว่างส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัจจัยด้านสุขภาพร่างกายไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และ 3) ปัจจัยด้านการรับรู้ ด้านการรับรู้ข่าวสาร และด้านการรับรู้สิทธิ สวัสดิการสังคมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05