
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาในเขต ภาคกลางจากแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก (แม่น้ำแม่กลอง) และแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันออก (แม่น้ำเจ้าพระยา) และความแตกต่างของฤดูกาล และจุดเก็บตัวอย่างน้ำ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำดิบสำหรับ การผลิตน้ำประปา โดยวิเคราะห์คุณภาพน้ำดิบจาก 5 พารามิเตอร์ ประกอบด้วย ค่าพีเอช (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ค่าความเค็ม (Salinity) ค่าความขุ่น (Turbidity) และค่าของแข็งละลายน้ำ (TDS) ทำการเก็บตัวอย่างน้ำจากจุดเก็บตัวอย่าง ครอบคลุม 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ผลการศึกษาพบว่า การเปรียบเทียบพารามิเตอร์ที่บ่งชี้คุณภาพน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก และแหล่งน้ำดิบตะวันออก ในฤดูหนาวพารามิเตอร์ทั้ง 5 ค่าที่ทำการศึกษา มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 สำหรับในฤดูร้อน และฤดูฝน พารามิเตอร์ที่ทำการศึกษาจากแหล่งน้ำดิบทั้ง 2 แหล่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ยกเว้น ค่าความขุ่นไม่มีความแตกต่างกัน และเมื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพน้ำดิบ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) พบว่า ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำดิบในพารามิเตอร์ที่ทำการศึกษา สำหรับแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก (แม่น้ำ แม่กลอง) ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าการนำไฟฟ้า ค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะฤดูร้อนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพารามิเตอร์ มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันออก (แม่น้ำเจ้าพระยา) ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็ม ค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำที่แตกต่างกัน โดยฤดูร้อนจะมีผลต่อค่าความเค็มมากที่สุด ขณะที่ฤดูหนาวจะมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงของค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05