
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจและรวบรวมประเด็นศึกษา แนวคิด ทฤษฎี และระเบียบวิธีวิจัยที่ปรากฏในงานวิจัยด้านการสื่อสารที่ศึกษาเกี่ยวกับ Crowdsourcing ของไทย ในช่วงปี 2549 ถึงปี 2566 และ 2) วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อค้นพบที่ปรากฏในงานวิจัยด้านการสื่อสารที่ศึกษาเกี่ยวกับ Crowdsourcing ของไทย ในช่วงปี 2549 ถึงปี 2566 โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการวิเคราะห์เอกสาร (Document Research) จากรายงานการวิจัย บทความวิจัย และวิทยานิพนธ์ทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ที่จัดทำหรือเผยแพร่ระหว่าง พ.ศ. 2549 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 และเฉพาะบทความวิจัยที่มี Peer-review ส่วนรายงานการวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ต้องมีฉบับเต็ม (Full-text) ที่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ของไทย และฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มของของสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่เปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาเอกทางด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน จำนวน 15 สถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งสิ้น 10 เรื่อง ผลการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณ พบว่า 1) ประเด็นการศึกษาตามองค์ประกอบของ Crowdsourcing ด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับงาน (Task) มากที่สุด จำนวน 8 เรื่อง รองลงมาคือ ด้านแพลตฟอร์ม (Platform) และด้านผู้ใช้สื่อ (User) จำนวน 6 เรื่อง ส่วนด้านผู้จัดการกระบวนการ/เนื้อหา (Crowdsourcer) น้อยที่สุด คือ จำนวน 4 เรื่อง ทั้งนี้จะเห็นว่าประเด็นการศึกษาของรายงานการวิจัย บทความวิจัย และงานวิทยานิพนธ์แต่ละเรื่องนั้น มิได้ศึกษาเพียงองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เพียงองค์ประกอบเดียว แต่เป็นการศึกษาในหลายองค์ประกอบร่วมกัน 2) การกระจายตัวของแนวคิดทฤษฎี พบว่า มีแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับ Crowdsourcing/Crowdfunding มากที่สุด จำนวน 7 เรื่อง รองลงมาคือ แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ จำนวน 4 เรื่อง และแนวคิดเกี่ยวกับวารสารศาสตร์ภาคพลเมือง/สื่อพลเมือง/การรายงานข่าวโดยมวลชน จำนวน 3 เรื่อง ตามลำดับ และ 3) กระจายตัวของระเบียบวิธีวิจัย มีงานวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มากที่สุด จำนวน 4 เรื่อง ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม รองลงมาคือ ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ จำนวน 3 เรื่อง ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา การสำรวจ และการวิจัยเชิงทดลอง และระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน จำนวน 3 เรื่อง ผลการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า 1) ประเภท Crowdsourcing ในบริบทงานวิจัยไทย มีการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมทั้ง 5 ประเภทของ Crowdsourcing โดยพบเพียง 2 ประเภท ได้แก่ งานวิจัยที่ศึกษาประเภทงานขนาดเล็ก (Micro-task) และงานวิจัยที่ศึกษาประเภทระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) และ 2) ข้อค้นพบในงานวิจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย แพลตฟอร์ม Crowdsourcing พื้นที่สาธารณะของมวลชนบนโลกออนไลน์ ทั้งที่สมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์ เนื้อหา (สาร) ที่เกี่ยวข้องกับงาน (Task) มีผลต่อการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ และภาพลักษณ์ของผู้ระดมทุนมีผลต่อความตั้งใจให้เงินทุนบนแพลตฟอร์ม Crowdfunding