การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (Depth Interview) สุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ผู้วิจัยกำหนดกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกิจกรรมการรับน้องของคณะ จำนวนทั้งสิ้น 40 คน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1.กลุ่มนักศึกษาที่เป็นผู้จัดกิจกรรมรับน้องไม่มีแผนประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นทางการแต่มีแผนปฏิบัติงานอย่างง่าย นอกเหนือจากกิจกรรมรับน้องปี 1 แล้วทุกสาขายังมีกิจกรรมการรับน้องปี 2 เข้าสาขาด้วย โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง (RT) เพียงสาขาเดียวที่ยังคงมีระบบ SOTUS แฝงอยู่ 2.กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องเพราะต้องการสร้างความรู้จัก ความสนิทสนมกับเพื่อนและรุ่นพี่ รวมถึงต้องการที่ปรึกษาทั้งเรื่องการเรียนและชีวิตในมหาวิทยาลัย โดยเข้าใจเรื่องสิทธิส่วนบุคคลและรู้วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากกิจกรรมรับน้องที่ไม่สร้างสรรค์ รูปแบบการรับน้องที่นักศึกษาปีที่ 1 คิดว่าเหมาะสมคือ กีฬาภายในคณะ กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ไม่เครียดมาก กิจกรรมที่แทรกความรู้ด้านวิชาชีพ กิจกรรมสันทนาการ ร้องเพลง และเล่นเกม 3.กิจกรรมรับน้องอย่างสร้างสรรค์ของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนกลุ่มอาจารย์และเจ้าหน้าที่รวมถึงกลุ่มบุคคลภายนอกคิดว่าควรจัดกิจกรรมสันทนาการและฐานกิจกรรม กิจกรรมวิชาชีพที่มีประโยชน์ต่อชุมชน กิจกรรมกีฬา และกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านวิชาชีพ