การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างสื่อออนไลน์วิธีถอดลายผ้าทอจากตัวอย่างผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ระหว่างก่อนและหลังการใช้สื่อออนไลน์ และ 3) ศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้สื่อออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จำนวน 20 คน ซึ่งได้มาจากวิธีแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ สื่อออนไลน์และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือสถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วยค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงปริมาณประกอบด้วย Independent Sample t-test ผลการวิจัยพบว่า สื่อออนไลน์วิธีถอดลายผ้าประกอบด้วยกราฟผ้าทอ 18 ลาย ได้แก่ ผ้าโฮลโกนกระอ็อบ ผ้าลายฉัตรทอง ผ้าลายกระแสร์มูย ผ้าลายกระแสร์ปีร์ ผ้าลายตร็อบจังกอม (มะเขือพวง) ผ้าโสร่ง ผ้าลายดอกพิกุล ผ้าลายติงลาดออบปวง 1 (ผีเสื้อกอดไข่ 1) ผ้าลายติงลาดออบปวง 2 (ผีเสื้อกอดไข่ 2) ผ้าลายสับปะรด ผ้าลายหัวเข็มขัด ผ้าลายนางสนม ผ้าลายผกามะออม ผ้ากลาสนัน (ร่างแห) ผ้าลายตะขอใหญ่ ผ้าลายพนมบ๊ะ ผ้าโฮลปันเตือด และผ้าลายพนมเป็ง การทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังใช้มีระดับความรู้สูงขึ้นกว่าการทดสอบก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 21 – 25 ปี พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์วิธีถอดลายผ้าทอ 1 ชั่วโมง ต่อวัน ในช่วงเวลา 15.01 – 18.00 น. สถานที่ใช้สื่อออนไลน์มากที่สุดได้แก่ ในพื้นที่สถานศึกษา และใช้สื่อออนไลน์ผ่านโน๊ตบุ๊ค ความพึงพอใจของนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีต่อสื่อออนไลน์วิธีถอดลายผ้าทอจากตัวอย่างผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดสุรินทร์ โดยรวมอยู่ในระดับ มาก