การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุที่สามารถรีไซเคิลด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุรีไซเคิล โดยการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน และเพื่อพัฒนาคุณสมบัติที่เหมาะสมของต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุรีไซเคิล โดยแต่เดิมหากเรานำกระดาษใช้แล้วสองหน้าไปขายยังร้านรับซื้อของเก่าจะมีมูลค่าไม่มาก แต่หากนำมาเพิ่มมูลค่าโดยการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคตได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับสภาพเยื่อกระดาษด้วยความร้อน ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 15 นาที เพื่อให้เยื่อกระดาษมีความอ่อนนุ่ม จากนั้นทำให้มีขนาดเล็กโดยการปั่นบดและย่อยเยื่อกระดาษ จากนั้นนำมาขึ้นรูปชิ้นงานเพื่อทดสอบ และจัดทำเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น กระดาษสาเทียม ที่ติดหลังโทรศัพท์มือถือ ที่วางโทรศัพท์มือถือแบบกลม ที่วางโทรศัพท์มือถือแบบเหลี่ยม และแจกันหกเหลี่ยม โดยชิ้นงานต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุรีไซเคิลทุกชิ้นนั้น มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย และมีส่วนผสมของกระดาษใช้แล้วสองหน้า เศษวัสดุท้องถิ่นซีเมนต์ และน้ำจึงนับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะและเศษวัสดุรีไซเคิล