การศึกษาและพัฒนากระเป๋าสตรีจากผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย 2) เพื่อพัฒนากระเป๋าสตรีจากผ้าทอไทลื้อ ในจังหวัดเชียงราย 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจต่อกระเป๋าสตรีจากผ้าทอไทลื้อในจังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่า ชาวไทลื้อในจังหวัดเชียงราย อพยพมาจากสิบสองปันนาประเทศจีน เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ผ้าทอของชาติพันธุ์ไทลื้อมีเอกลักษณ์และลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิธีการทอที่หลากหลาย จังหวัดเชียงรายผ้าทอไทลื้อที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อยู่ในพื้นที่ของอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย ด้านเทคนิคการทอและลวดลาย การศึกษาครั้งนี้ได้ทอผ้า ไทลื้อที่ย้อมสีเส้นด้ายฝ้ายด้วยใบสาบเสือสด ศึกษากระบวนการเตรียมเส้นด้ายก่อนการย้อมสี การเพิ่มสารประจุบวกสำหรับเส้นด้ายฝ้ายก่อนการย้อมสี การใช้สารช่วยติดสี 4 ชนิด คือ จุนสี ให้เส้นด้ายฝ้ายสีเขียวอมเหลือง สารส้มให้เส้นด้ายฝ้ายสีเหลืองอมเขียว ปูนขาว ให้เส้นด้ายฝ้าย สีเขียวอมเทาอ่อน และสนิมเหล็ก ให้เส้นด้ายฝ้ายสีเขียวขี้ม้า การซักล้างสีส่วนเกิน การทอผ้าศึกษากระบวนการเตรียมเส้นด้ายฝ้ายสำหรับเส้นยืน การลงแป้ง การกรอด้าย การเดินด้าย การสืบหูก การกรอด้ายพุ่ง และทอผ้าใช้เทคนิคการทอลวดลายที่โดดเด่นของจังหวัดเชียงราย เทคนิคการเกาะ การล้วง ของบ้านศรีดอนชัย คือ ลายเกาะแหย่หางปลา และเทคนิคการจก ของบ้านหาดบ้าย คือ ลายแมว และนำผ้าทอสำเร็จเข้าทดสอบความคงทนของสีย้อม ด้านความคงทนของสีต่อน้ำ ความคงทนของสีต่อเหงื่อทั้งสภาพกรดและด่าง ความคงทนของสีต่อการซัก ความคงทนของสีต่อการขัดถูสภาวะแห้ง และสภาวะเปียก ความคงทนของสีต่อแสง โครงสร้างของผ้า และความแข็งแรง ของผ้าต่อการดึงขาด และการฉีกขาด และเข้าสู่กระบวนการตกแต่งสะท้อนน้ำจากข้อมูล ของกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาจำนวน 50 คน ได้กระเป๋าที่ต้องการพัฒนาจำนวน 3 รูปแบบ คือ กระเป๋าหิ้ว กระเป๋าถือ และกระเป๋าถือขนาดเล็ก ได้ทำการตัดเย็บและสอบถามความพึงพอใจต่อผู้เชี่ยวชาญ พบว่า กระเป๋าทั้ง 3 รูปแบบมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดีมาก