งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการเสียรูปของแผ่นเกราะโลหะพรุนแบบเรียงซ้อนกันและวิเคราะห์ความเค้นที่เกิดขึ้นกับแผ่นเกราะโลหะพรุนแบบเรียงซ้อนที่มีความแข็งแรงสูงต่อกระสุนเจาะเกราะ 7.62 โดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ตามมาตรฐาน NIJ ระดับ 3 ANSYS Explicit/Dynamics ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ด้วยวิธีการรวมเวลา (Time Integration Method) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการตอบสนองแบบไดนามิกในกลศาสตร์ของแข็ง กระสุนที่ใช้ในการจำลองเป็นกระสุน 7.62x51 มิลลิเมตร ทำจากทังสเตนคาร์ไบด์ที่มีความเร็วตามมาตรฐาน NIJ 3 ในการวิเคราะห์จึงกำหนดรูปแบบความเสียหายของกระสุนเป็นแบบ Johnson-Holmquist Failure Model แผ่นเกราะพรุนทำมาจาก SKD 11 กำหนดให้เป็นวัสดุที่มีเนื้อเดียวกัน (Homogeneous) และมีสมบัติเหมือนกันในทุกทิศทุกทาง (Isotropic Materials) ความเสียหายที่เกิดขึ้นพิจารณาตั้งแต่ช่วงยืดหยุ่นเชิงเส้นไปจนถึงช่วงพลาสติกที่มีอัตราความเครียดสูง แผ่นเกราะพรุนมีขนาดความกว้างและความยาวเท่ากับ 300x300 มิลลิเมตร โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงความหนาของแผ่นเกราะพรุนเป็นกรณีต่างๆ รูพรุนจะช่วยเบี่ยงเบนทิศทางของกระสุนที่พุ่งเข้าเจาะเกราะที่มุมศูนย์องศา วัสดุ SKD11 ได้รับเลือกมาใช้เป็นวัสดุแผ่นหน้า แผ่นเกราะด้านหลังจะเป็นวัสดุ SUS304 ที่ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานการเคลื่อนที่ของกระสุน แบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้องโดยเปรียบเทียบผลวิเคราะห์กับการทดลอง จากผลการวิเคราะห์พบว่า การสร้างแผ่นเกราะให้มีรูพรุนในรูปแบบทะลุผ่านตลอดความหนาแผ่นเกราะนั้นไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการต้านทานการเจาะทะลุได้ แต่ในกรณีแผ่นเกราะมีรูพรุนแต่ไม่ทะลุตลอดความหนาจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการหักเหทิศทางกระสุน และเพิ่มความสามารถต้านทานการเจาะทะลุ อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักของแผ่นเกราะลงได้