อาหารท้องถิ่นกับวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ แบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ศึกษาข้อมูลอาหารท้องถิ่นบนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน และพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จำนวน 35 คน และนักท่องเที่ยว 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมิน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ ผลการวิจัย พบว่า 1) ในชุมชนกุฎีจีนมีสถานที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โบสถ์ซางตาครู้ส เรือนจันทนภาพ และศาลเจ้าเกียนอันเกง ประกอบด้วย เส้นทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยาน มีร้านอาหาร 11 ร้านที่ให้บริการอาหารทั่วไปและอาหารท้องถิ่น 2) อาหารท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาชุมชนและให้บริการในปัจจุบัน จำนวน 20 รายการ 3) ผลการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน 2 โปรแกรม พบว่า มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในระดับมาก โดยมีข้อเสนอแนะให้เน้นความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ด้านอาหารในโปรแกรมเพิ่มขึ้น กาหนดเส้นทางที่สอดคล้องกับการเดินเท้าหรือการปั่นจักรยาน และชูประเด็นของอาหารท้องถิ่นที่ต้องการนำเสนอ งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้ทำป้ายสัญลักษณ์แสดงข้อมูลพื้นที่ ปรับปรุงเส้นทาง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลอาหารท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบัน และจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นในรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพกลุ่มเล็กที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของชุมชน