จำนวนบทความ ( 2 )
แนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
วัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย และเพื่อหาแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย เก็บข้อมูลความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนจากนักศึกษาปัจจุบันที่ลงทะเบียนในปีการศึกษา 2563 อาจารย์ประจำสาขาวิชา และศิษย์เก่า สุ่มตัวอย่างแบบสะดวกจากผู้ยินดีให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามออนไลน์ 104 คน คำนวณความเชื่อมั่นด้วยค่าสัมประสิทธิแอลฟ่าของครอนบาคได้ 0.980 วิพากษ์หลักสูตรจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 4 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว สรุปผลดังนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่า ร้อยละ 50.96 ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนด้านอาจารย์ผู้สอนอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.23 การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนของสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย จำแนกตามสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่าไม่แตกต่างกัน แนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน (1) ด้านหลักสูตร เปลี่ยนชื่อหลักสูตร เพิ่มรายวิชาเลือก (2) ด้านอาจารย์ผู้สอน ใช้การสอนแบบ Team Teaching (3) ด้านเครื่องมือ อุปกรณ์การสอน จัดทำความร่วมมือกับสถานประกอบการ (4) ด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ จัดหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร และ (5) ด้านอื่น ๆ เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ การร่วมมือกับศิษย์เก่า การจัดสรรทุนการศึกษา การศึกษาดูงานและการเรียนนอกสถานที่
การศึกษาสาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลพระนคร และ 2) เปรียบเทียบลักษณะประชากรกับสาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาจาก 9 คณะ และ 1 สถาบัน ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จำนวน 400 คน ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการวิจัย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 52.00 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 89.50 และกำลังศึกษาระดับชั้นปีที่ 1 ร้อยละ 49.50 สาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ด้านการเข้าร่วมกิจกรรม ภาพรวมอยู่ในระดับมาก และด้านการไม่เข้าร่วมกิจกรรม อยู่ในระดับมาก และการทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศต่างกันมีสาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนศาสนา และระดับชั้นที่ศึกษาต่างกันมี สาเหตุการเข้าร่วมกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ไม่แตกต่างกัน