จำนวนบทความ ( 12 )

การศึกษาและพัฒนาแป้งโดว์จากดินสอพองของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือ เด็กอายุ 6-12 ปี
การศึกษาและพัฒนาแป้งโดว์จากดินสอพองของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือ เด็กอายุ 6-12 ปี

การออกแบบและพัฒนาแป้งโดว์จากดินสอพองของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือเด็กอายุ 6-12 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการผลิต และพัฒนาแป้งโดว์จากดินสอพอง ศึกษาลักษณะการเล่นแป้งโดว์ของเด็ก และทดสอบคุณภาพของแป้งโดว์จากดินสอพอง โดยทำการศึกษาสูตรที่เหมาะสมในการผลิตแป้งโดว์จากดินสอพอง และประเมินการใช้ส่วนผสมของดินสอพองที่เหมาะสมของสูตรแป้งโดว์จากดินสอพอง 3 สูตร เปรียบเทียบกันโดยผู้ประเมิน 70 คน พบค่าเฉลี่ยดังนี้ สูตรที่ 1 4.20 (มาก) สูตรที่ 2 3.91 (มาก) และสูตรที่ 3 3.22 (ปานกลาง) เห็นได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามเลือกแป้งโดว์จากดินสอพอง สูตรที่ 1 ว่ามีความเหมาะสมสำหรับการทำผลิตภัณฑ์ของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือเด็กอายุ 6-12 ปี มากที่สุด จากนั้นจึงนำแป้งโดว์จากดินสอพองที่ได้รับการประเมินจากผู้ตอบแบบสอบถามมาพัฒนาของเล่นเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือเด็กอายุ 6-12 ปี ผลการดำเนินงานพบว่ารูปแบบที่เลือกมากที่สุดคือ รูปแบบของเล่นที่แนวคิดจากหนุมานและลวดลายไทย เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผลิตภัณฑ์มีความสวยงามโดดเด่น มีความเหมาะสมในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก และยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยต่อไป

2565
การศึกษาและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารพร้อมรับประทานเพื่อสังคมผู้สูงอายุ
การศึกษาและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารพร้อมรับประทานเพื่อสังคมผู้สูงอายุ

การศึกษาและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารพร้อมรับประทานเพื่อสังคมผู้สูงอายุมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาและออกแบบบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารพร้อมรับประทานสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (2) เพื่อประเมินความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย โดยได้ดำเนินการศึกษาการใช้งานภาชนะบรรจุอาหารสำหรับผู้สูงอายุจากเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและใช้เครื่องมือการวิจัยคือแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 50 คน เป็นผู้สูงอายุช่วงอายุระหว่าง 60 – 79 ปี เพื่อค้นหาปัญหาและพฤติกรรมการใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ 3 ส่วน ดังนี้(1) ผลจากการศึกษาพบว่าปัญหาการใช้งานภาชนะบรรจุอาหารของผู้สูงอายุคือรูปทรงและขนาดของภาชนะที่ยังไม่สอดคล้องกับศักยภาพด้านร่างกาย พฤติกรรมการใช้งาน และภาชนะที่ใช้ไม่รองรับกับปริมาณอาหาร (2) ผลจากการประเมินความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนา จำนวน 3 ท่าน พบว่า บรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหาร รูปแบบที่ 3 มีความเหมาะสมของรูปทรงของภาชนะบรรจุอาหาร วัสดุที่ใช้ในการผลิต การใช้งานภาชนะและความสะดวกสบายอยู่ในระดับดี โดยมีค่าเฉลี่ย 3.95 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) คือ 0.46 (3) ผลการประเมินความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่าง คือผู้สูงอายุ จำนวน 50 คน ผลการประเมินความพึงพอใจในรายด้านพบว่า ด้านความสะดวกสบาย อยู่ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 4.00 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) คือ0.41 ด้านความปลอดภัย อยู่ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 3.79 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) คือ 0.38ด้านวัสดุ อยู่ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 3.83 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) คือ 0.40

2565
การออกแบบและพัฒนากระเป๋าเก็บอุปกรณ์ตัดผมวินเทจสำหรับพกพา
การออกแบบและพัฒนากระเป๋าเก็บอุปกรณ์ตัดผมวินเทจสำหรับพกพา

การออกแบบและพัฒนากระเป๋าเก็บอุปกรณ์ตัดผมวินเทจสำหรับพกพามีวัตถุประสงค์คือ ออกแบบและพัฒนารวมถึงประเมินความพึงพอใจกระเป๋าเก็บอุปกรณ์ตัดผมวินเทจสำหรับพกพา โดยมีกลุ่มประชากรคือช่างตัดผมวินเทจในจังหวัดกรุงเทพมหานครและกลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบเจาะจง คือ ช่างตัดผมวินเทจใน เขตพระโขนงจำนวน 7 คน เขตคลองเตยจำนวน 14 คน เขตปทุมวันจำนวน 9 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 30 คน ผลการวิจัยพบว่าวัสดุที่ใช้ในการออกแบบกระเป๋าเก็บอุปกรณ์ตัดผมวินเทจสำหรับพกพาคือหนัง Full Grain ได้คะแนนการวิเคราะห์ทั้งหมด 35 คะแนน และผลการประเมินความพึงพอใจมากที่สุดคือด้านการออกแบบค่าเฉลี่ย 4.43 อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาด้านการการใช้งานค่าเฉลี่ย 4.03 อยู่ในระดับมาก และน้อยที่สุดด้านความปลอดภัยค่าเฉลี่ย 3.83 อยู่ในระดับมาก โดยสรุปภาพรวมทั้ง 3 ด้านค่าเฉลี่ย 4.10 อยู่ในระดับมาก

2565
การศึกษาและพัฒนากระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม
การศึกษาและพัฒนากระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนากระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม และเพื่อหาความพึงพอใจของกระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้วิจัยจึงศึกษาข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ และได้ทำการออกแบบและพัฒนากระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม โดยนำกระบวนการขึ้นรูปมาช่วยในการออกแบบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากเข่งปลาทูยังคงรูปทรงลวดลายให้มีเอกลักษณ์ ให้มีความสวยงามและเหมาะสมกับการใช้งานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุโดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยกลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลคือกลุ่มที่มีความชื่นชอบในงานจักสานช่วงอายุตั้งแต่ 27-37 ปี จำนวน 50 คน และขั้นตอนที่สอง คือแบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม จากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่มีอายุ ตั้งแต่ 27-37 จำนวน 30 คน ที่ได้มาจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ผลการศึกษาหาแนวทางในการออกแบบและพัฒนากระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม ได้จัดทำแบบสอบถามประเมินพฤติกรรมการใช้งาน โดยมีกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 27-37 ปี จำนวน 50 คน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 76.00 มีโอกาสในการใช้งานกระเป๋าในชีวิตประจำวันทั่วไปมากที่สุด ประเภทของกระเป๋ามี 3 ประเภท ที่ได้รับความนิยมจากการทำแบบสอบถามมากที่สุดคือ กระเป๋าสะพายข้าง (Crossbody Bag) คิดเป็นร้อยละ 25.21 กระเป๋าคล้องไหล่ (Shoulder Bag) คิดเป็น ร้อยละ 22.69 กระเป๋าคล้องมือ (Wrist Bag) คิดเป็นร้อยละ 21.85 ในด้านความเห็นด้านการออกแบบมีความต้องการเน้นไปทางด้านดีไซน์เป็นหลัก คิดเป็นร้อยละ 27.27 และการศึกษาเกี่ยวกับการประเมินความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากเข่งปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม จากกลุ่มตัวอย่างเพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 27-37 ปี จำนวน 30 คน โดยผู้วิจัยได้นำข้อมูลมาใช้สถิติวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานได้ข้อมูลสถิติดังนี้ มากที่สุดคือด้านความสวยงามของลวดลาย (x ̅= 4.53, S.D. = 0.50) รองลงมาคือด้านความสวยงามของรูปทรง (x ̅ = 4.47, S.D. = 0.62) ด้านความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ (x ̅= 4.47, S.D. = 0.56) ด้านความแข็งแรง/ทนทาน (x ̅ = 4.43, S.D. = 0.56) และด้านประโยชน์ใช้สอย (x ̅= 4.40, S.D. = 0.80)

2566
การศึกษาและออกแบบชุดกระถางต้นไม้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากตำบลบ้างเชียง จังหวัดอุดรธานี
การศึกษาและออกแบบชุดกระถางต้นไม้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากตำบลบ้างเชียง จังหวัดอุดรธานี

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมลวดลายเครื่องปั้นดินเผาของตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 2) เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดกระถางต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ปลูกต้นไม้ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ชุดกระถางต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี การดำเนินการวิจัยโดยศึกษาข้อมูลด้านลวดลายเครื่องปั้นดินเผาของตำบลบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี รวมถึงหลักการด้านการออกแบบให้เหลือจำนวน 3 รูปแบบ ซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบเซรามิก จำนวน 3 ท่าน และประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 51 คน โดยประเมินค่าข้อมูลในรูปแบบ Rating Scale ผลการวิจัยพบว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผู้บริโภค เห็นว่ากระถางต้นไม้รูปแบบที่ 2 มีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้งานมากที่สุดและแสดงถึงเอกลักษณ์ศิลปะบ้านเชียงที่แสดงถึงลวดลายก้นหอย และผลความพึงพอใจของผู้บริโภคพบว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบที่ 2 ด้านผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมมากที่สุด (x ̅= 4.65, S.D.= 0.55) ด้านราคามีความเหมาะสมมากที่สุด (x ̅= 4.63, S.D.= 0.57) ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายมีความเหมาะสมมากที่สุด (x ̅= 4.57, S.D.= 0.53) และด้านการส่งเสริมการตลาดมีความเหมาะสมมากที่สุด (x ̅= 4.56, S.D.= 0.58)

2566