จำนวนบทความ ( 25 )
ความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับดูแลกิจการ และอัตราส่วนทางการเงินกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการกำกับดูแลกิจการ 2) อัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่องทางการเงิน และ 3) อัตราส่วนทางการเงินด้านความสามารถในการชำระหนี้กับกับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ของบริษัทจำนวน 191 บริษัท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ถึงปี พ.ศ.2563 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า 1) การกำกับดูแลกิจการ ได้แก่ (1) ขนาดของคณะกรรมการบริษัท และสัดส่วนของคณะกรรมการอิสระมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (2) การกำกับดูแลกิจการทุกด้านไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนกำไรสุทธิ (3) ขนาดของคณะกรรมการบริษัท และสัดส่วนการถือครองหุ้นของคณะกรรมการบริหารมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และ (4) ขนาดของคณะกรรมการบริษัท และสัดส่วนการถือครองหุ้นของคณะกรรมการบริหารมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น 2) ส่วนสภาพคล่องทางการเงินไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีบรรษัทภิบาลในระดับดีเลิศทุกด้าน และ 3) ความสามารถในการชำระหนี้ ได้แก่ (1) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของมีความสัมพันธ์ทางลบกับอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (2) ความสามารถในการชำระหนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนกำไรสุทธิ (3) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของมีความสัมพันธ์ทางลบ ส่วนอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ และ (4) อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์มีความสัมพันธ์ทางบวก ส่วนอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของมีความสัมพันธ์ทางลบกับผลการดำเนินงานของบริษัทด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นที่ระดับนัยสำคัญ .01
การเตรียมความพร้อมและการรับรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุ ของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบปัจจัยด้านลักษณะประชากรกับคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ 2) ศึกษาการเตรียมความพร้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และ 3) ศึกษาการรับรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่าง คือพนักงานที่ทำงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยด้านประชากร ได้แก่ ตำแหน่งที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนตัวแปร เพศ อายุ สถานภาพ การศึกษา รายได้ต่อเดือนที่ต่างกันมีคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการไม่แตกต่างกัน 2) ปัจจัยด้านการเตรียมความพร้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านจิตใจ ด้านการใช้เวลาว่างส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนปัจจัยด้านสุขภาพร่างกายไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และ 3) ปัจจัยด้านการรับรู้ ด้านการรับรู้ข่าวสาร และด้านการรับรู้สิทธิ สวัสดิการสังคมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตก่อนเกษียณอายุของพนักงานภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับ
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพระหว่างการเก็บรักษา และศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับ ผลการศึกษาพบว่าปริมาณน้ำที่ใช้ปั่นผสมกับกระจับมากขึ้นมีผลทำให้ปริมาณโปรตีนและความข้นหนืดของผลิตภัณฑ์ลดลง โดยปริมาณกระจับต่อน้ำที่เหมาะสมคืออัตราส่วน 1:2.5 (น้ำหนัก : น้ำหนัก) ผลิตภัณฑ์มีปริมาณโปรตีนร้อยละ 3.03 ผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับที่เสริมแซนแทนกัมในปริมาณที่สูงขึ้นส่งผลให้มีค่าความข้นหนืดเพิ่มขึ้น โดยปริมาณแซนแทนกัมที่เหมาะสม คือ ร้อยละ 0.1 ของปริมาณส่วนผสมทั้งหมด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันไม่เกิดการแยกชั้น และการพาสเจอร์ไรซ์ผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับที่อุณหภูมิ 64 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บรักษาได้ 9 วัน ที่อุณหภูมิ 5±1 องศาเซลเซียส โดยจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานของนมพาสเจอไรซ์ ปลอดภัยต่อการบริโภค ผลิตภัณฑ์เลียนแบบน้ำนมจากกระจับปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 29.22 กิโลแคลอรี มีโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ปริมาณร้อยละ 3.37 0.22 และ 3.42 ตามลำดับ
การพัฒนาสูตรซอสบ๊วยเจี่ยจากน้ำส้มโอและเปลือกส้มโอ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรซอสบ๊วยเจี่ยจากน้ำส้มโอและเปลือกส้มโอ โดยศึกษาซอสบ๊วยเจี่ยสูตรพื้นฐาน เพื่อนำมาศึกษาหาปริมาณที่เหมาะสมของน้ำส้มโอทดแทนน้ำเปล่าในซอสบ๊วยเจี่ย 4 สูตร ได้แก่ ปริมาณร้อยละ 0 (เป็นสูตรควบคุม) 25 50 75 ของน้ำหนักส่วนผสมน้ำเปล่าทั้งหมด จากนั้นนำมาศึกษาปริมาณที่เหมาะสมของเปลือกส้มโอเสริมในซอสบ๊วยเจี่ย 4 สูตร ได้แก่ ปริมาณร้อยละ 0 10 15 และ 20 ของ น้ำหนักส่วนผสมทั้งหมด และนำไปประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส พบว่า ปริมาณน้ำส้มโอทดแทนน้ำเปล่าในซอสบ๊วยเจี่ย คือ ปริมาณร้อยละ 50 และเปลือกส้มโอเสริมซอสบ๊วยเจี่ยปริมาณ คือ ปริมาณร้อยละ 15 ผลการวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี พบว่า ในสูตรซอสบ๊วยเจี่ยที่พัฒนาใช้น้ำส้มโอและเปลือกส้มโอ พบว่า มีค่าความชื้นปริมาณร้อยละ 28.55 โปรตีนร้อยละ 0.27 ไขมันร้อยละ 0.71 เถ้าร้อยละ 1.57 คาร์โบไฮเดรตรวมร้อยละ 68.90 และใยอาหารร้อยละ 95 และ ค่า pH 3.11 ส่วนผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ พบว่า ค่าความสว่าง (L*) ค่าสีแดง (a*) และค่าสีเหลือง (b*) มีค่าเท่ากับ 31.43 7.60 19.47 ตามลำดับ ค่าความข้นหนืดค่าความข้นหนืด มีค่าเท่ากับ 11.0 cP
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสเทอริยากิเสริมมันสำปะหลัง
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสเทอริยากิเสริมมันสำปะหลัง พันธุ์ระยอง 90 ศึกษาสมบัติทางเคมีกายภาพ ศึกษาการทดสอบผู้บริโภค และถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสเทอริ ยากิเสริมมันสำปะหลัง ผลการศึกษากรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ซอสเทอริยากิเสริมมันสำปะหลัง ที่ระดับร้อยละ 0 20 30 และ 40 ของส่วนผสมทั้งหมด พบว่า ผู้ทดสอบให้การยอมรับที่ระดับร้อยละ 20 ซึ่งอยู่ในระดับความชอบมากที่สุด ด้านคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ พบว่า ซอสเทอริยากิเสริมมันสำปะหลังแบบเปียก ที่ระดับร้อยละ 20 พบว่า มีค่า aw เท่ากับ 0.97±0.00 มีค่าความสว่าง (L*) 31.72±0.58 ค่าสีเขียว (a*) 2.17±0.18 และค่าสีเหลือง (b*) 3.28±097 และมีค่าความชื้นร้อยละ 78.66 ค่าไขมันร้อยละ 1.08 เยื่อใยร้อยละ 1.36 เถ้าร้อยละ 2.29 และโปรตีนร้อยละ 3.34 จากการทดสอบของผู้บริโภค (Consumer test) จำนวน 100 คน พบว่า ความชอบต่อผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ซอสเทอริยากิเสริมมันสำปะหลัง ในระดับความชอบปานกลาง โดยให้คะแนนความชอบต่อลักษณะผลิตภัณฑ์ ด้านลักษณะปรากฏ สี กลิ่น กลิ่นและรสชาติ อยู่ในระดับความชอบปานกลาง และผลการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวไร่มันสำปะหลัง 480 อำเภอครบุรี และอำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา ผู้เข้าอบรมจำนวน 45 คน พบว่า มีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และมีความพึงพอใจของผู้รับบริการคิดเป็นร้อยละ 100