จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 12 )

การบูรณาการบัญชีกับการบริหารสินทรัพย์เพื่อประสิทธิภาพการทํากําไรของรัฐวิสาหกิจพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์อิทธิพลของการบูรณาการบัญชีกับการบริหารสินทรัพย์ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำกำไรของรัฐวิสาหกิจพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย 2) วิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคในการบูรณาการบัญชีกับการบริหารสินทรัพย์เพื่อประสิทธิภาพการทำกำไรของรัฐวิสาหกิจพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ 3) เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการบูรณาการบัญชีกับการบริหารสินทรัพย์เพื่อประสิทธิภาพการ ทำกำไรของรัฐวิสาหกิจพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งทุติยภูมิ (Secondary Source) จากรายงานประจำปี งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ข้อมูลจากรายงานความยั่งยืน และผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ 3 ด้าน คือ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และการปฏิบัติงานและการจัดการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึงปี พ.ศ. 2565 จำนวน 13 ปี ที่แสดงอยู่ในเว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) แบบอนุกรมเวลา (Time Series Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์มีตัวตนระยะยาว (Long-Term Tangible Assets : LTA) มีอิทธิพลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำกำไร ด้านผลตอบแทน สินทรัพย์ (ROA) ทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในทิศทางตรงกันข้ามกันและยังมีอิทธิพลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำกำไร ด้านอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) เฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในทิศทางตรงกันข้ามกัน เช่นกัน ด้านมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์มีตัวตนระยะสั้น เฉพาะของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ส่งผลต่อด้านผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และด้านอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) ในทิศทางเดียวกัน และมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เฉพาะของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ส่งผลต่อด้านผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ในทิศทางเดียวกัน 2) ทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาอุปสรรค สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำกำไรให้องค์กรได้เพิ่มขึ้น 3) นักบัญชีต้องสื่อสารข้อมูลผลการดำเนินงานให้บุคลากรทุกหน่วยงานได้เข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบันขององค์กรประสานงาน สื่อสาร และร่วมมือในการทำงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมายการทำงานร่วมกัน

บรรษัทภิบาล และการวางแผนภาษีที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบรรษัทภิบาลที่ส่งผลต่อการวางแผนภาษีและการวางแผนภาษีที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ที่ได้จากงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบการเงิน แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) แบบ 56-1 One Report และคะแนนผลการประเมินจากเว็บไซต์ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จำนวน 192 บริษัท ระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปี พ.ศ. 2565 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า 1) บรรษัทภิบาลที่วัดค่าด้วยการกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของ (OWN) การควบอำนาจในการบริหารของประธานกรรมการ (Dual CEO) ส่งผลต่อการวางแผนภาษีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 2) การวางแผนภาษีที่วัดค่าด้วย อัตราส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่แท้จริง (ETR) อัตราส่วนภาษีเงินได้ต่อกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน (TAX/CFO) และอัตราส่วนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวม (TAX/ASSET) ส่งผลต่อการเติบโต อย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05