จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 90 )

การพัฒนาผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้อบแห้งโดยปราศจากการเติมสารละลายน้ำตาลโดยการอบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อน
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้อบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนแบบอุณหภูมิคงที่และแบบปรับลดระดับอุณหภูมิเปรียบเทียบกับการอบแห้งด้วยลมร้อน โดยประเมินจลนพลศาสตร์ของการอบแห้ง ความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะของกระบวนการอบแห้ง และคุณภาพของมะม่วงน้ำดอกไม้อบแห้ง โดยนำมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้อยู่ในช่วง 18-19 oBrix หั่นเป็นแผ่นด้วยความหนา 1.5 cm อบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนที่กำลัง 650 W ร่วมกับลมร้อนที่อุณหภูมิ 70-90 oC เปรียบเทียบกับการอบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนแบบปรับลดระดับอุณหภูมิที่กำลัง 650 W ร่วมกับลมร้อนที่อุณหภูมิ 90 oC และ 100 oC เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง และการอบแห้งด้วยลมร้อน 70 oC โดยทั้งสามวิธีดำเนินการอบแห้งจนกระทั่งตัวอย่างเหลือความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ฐานแห้ง จากผลการทดลอง พบว่าวิธีการอบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนที่อุณหภูมิ 90 oC มีอัตราการอบแห้งสูงกว่าวิธีการอบแห้งอื่น ทำให้ใช้เวลาอบแห้งสั้น ส่งผลให้มีความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะทางด้านไฟฟ้าต่ำกว่าวิธีการอบแห้งอื่น มะม่วงที่ผ่านการอบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนที่อุณหภูมิ 90 oC มีค่าความสว่างของสี (L*) ร้อยละของการหดตัว ความแข็ง และความหยุ่นตัวต่ำกว่า แต่มีค่าสีแดง (+a*) และค่าสีเหลือง (+b*) สูงกว่า และมีโครงสร้างภายเป็นรูพรุนขนาดใหญ่กว่าเงื่อนไขการอบแห้งอื่น ในขณะที่มะม่วงที่ผ่านการอบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนแบบปรับลดระดับอุณหภูมิที่ 90 oC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีค่าความสว่างของสีและค่าสีเหลืองสูงที่สุด แต่ค่าสีแดงต่ำที่สุด การเพิ่มขึ้นของระดับอุณหภูมิและระยะเวลาการอบแห้งในขั้นตอนแรกของกระบวนการอบแห้งทำให้มะม่วงอบแห้งมีค่าความสว่างของสี ค่าสีเหลือง ความแข็ง ความเหนียว และเปอร์เซ็นต์การหดตัวลดลง แต่สีแดงเพิ่มขึ้น และขนาดรูพรุนใหญ่ขึ้น โดยเงื่อนไขที่แนะนำสำหรับอบแห้งมะม่วงคืออบแห้งด้วยอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนแบบปรับลดอุณหภูมิที่อุณหภูมิ 90 oC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตามด้วย 80 oC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และตามด้วย 70 oC

การศึกษาการนำกลับมาใช้ใหม่ของพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดที่ส่งผลต่อสมบัติทางกลและไตรโบโลยี
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาการนำกลับมาใช้ใหม่ของพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดที่ส่งผลต่อสมบัติทางกลและไตรโบโลยี โดยนำผงพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดบริสุทธิ์ ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยเป็นวัสดุตั้งต้นในการศึกษาครั้งนี้ ผงพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดได้รับการตรวจสอบขนาดอนุภาคผงและรูปลักษณ์สัณฐาน ผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปร้อนด้วยแม่พิมพ์แบบปิดซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการศึกษา การให้ความร้อนซ้ำจำนวน 3 รอบ ถูกทำเพื่อศึกษาสมบัติทางกลและไตรโบโลยี ภายใต้ความดันปิดแม่พิมพ์ 5 MPa อุณหภูมิภายในแม่พิมพ์ 140oC นาน 180 นาที มีการใช้กระบวนการหล่อเย็นผ่านแท่น หล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิหลังการอัดขึ้นรูปร้อน ผลการทดสอบ พบว่า เมื่อนำพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดผ่านการให้ความร้อนซ้ำจำนวน 3 รอบ จะให้ค่าความเค้นคราก ค่าความต้านทานแรงดึง การยืดตัว ณ จุดแตกหัก แรงกระแทก และจุดหลอมเหลวลดลง ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานมีค่าเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย มีค่าความหนาแน่นลดลง มีอัตราการสึกหรอสูงขึ้น จากการตรวจสอบพื้นผิวด้วยเครื่องวัดความหยาบผิวพบว่ามีร่องรอยของการขูดขีดไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นผิวสึกหรอของพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวดบริสุทธิ์ จากการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเสริมอนุภาคเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ สมบัติทางกลและไตรโบโลยีให้กับพอลิเอทิลีนน้ำหนักโมเลกุลสูงยิ่งยวด และต้องมีการทดสอบสมบัติทางกล ทางความร้อน ทางเคมี และไตรโบโลยีใหม่อีกครั้ง

การใช้น้ำมันพืชพรีอิมัลซิฟายด์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืช
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสูตรพื้นฐานผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชโดยใช้กลูเตน 2) ศึกษาปริมาณน้ำมันพืชพรีอิมัลซิฟายด์ที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืช 3) ศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพและเคมีของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชที่ใช้น้ำมันพืชพรีอิมัล ซิฟายด์ 4) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชที่ใช้น้ำมันพืชพรีอิมัล ซิฟายด์ และ 5) ศึกษาต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ผลการวิจัยพบว่า ผู้ทดสอบชิมได้ให้คะแนนความชอบผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชที่ใช้กลูเตนทดแทนเนื้อไก่ในสูตรพื้นฐานไส้กรอกเวียนนาไก่ทั้ง 3 สูตรแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) โดยสูตรที่ 3 มีคะแนนความชอบด้าน เนื้อสัมผัส (ความแน่นเนื้อ) สี และรสชาติสูงกว่าสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 ผลการศึกษาปริมาณน้ำมันพืช พรีอิมัลซิฟายด์ที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชสูตรที่ 3 พบว่าการใช้น้ำมันพืชพรีอิมัลซิฟายด์ร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำมันพืชที่ใช้ในส่วนผสมไส้กรอกได้รับคะแนนความชอบมากกว่าร้อยละ 50 และร้อยละ 100 การใช้น้ำมันพืช พรีอิมัลซิฟายด์ในส่วนผสมมีผลให้ค่าความคงตัวของอิมัลชันดิบ ค่าการสูญเสียน้ำหนักขณะทำให้สุกและค่าปริมาณผลผลิตที่ได้ของไส้กรอกสูงขึ้น (p≤0.05) และมีผลให้ไส้กรอกมีสีเข้มขึ้น โดยค่า L* ลดลง ค่า a* และ b* เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) แต่ไม่มีผลต่อค่ากิจกรรมของน้ำ (aw) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ปริมาณน้ำมันพืชพรีอิมัล ซิฟายด์ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 100 มีผลให้ไส้กรอกมีค่าความแน่นเนื้อ ค่าความคงทนเมื่อถูกเคี้ยว ค่าความเหนียวยึดติด ค่าความยืดหยุ่นและค่าความสามารถในการยึดเกาะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) เมื่อนำผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชที่ใช้น้ำมันพืชพรีอิมัลซิฟายด์ ไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 189.54 กิโลแคลอรี่ ไขมัน 10.10 กรัม โปรตีน 15.90 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.76 กรัม เถ้า 2.13 กรัม และความชื้น 63.08 กรัม ซึ่งให้ค่าพลังงานและไขมันที่ต่ำกว่าไส้กรอกเวียนนาไก่สูตรพื้นฐาน แต่มีปริมาณโปรตีนมากกว่า จากการเปรียบเทียบต้นทุนของการผลิตพบว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเนื้อเทียมจากพืชที่ใช้น้ำมันพืชพรีอิมัลซิฟายด์มีราคาต้นทุน ที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ไส้กรอกเวียนนาไก่สูตรพื้นฐานร้อยละ 21

การพัฒนาผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสดเสริมโปรตีนจากตัวด้วงต้นสาคู
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสูตรพื้นฐานของคุกกี้เนยสด 2) ศึกษาปริมาณตัวด้วง ต้นสาคูที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสด 3) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสด เสริมโปรตีนจากตัวด้วงต้นสาคู และ 4) ศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อคุกกี้เนยสดเสริมโปรตีน จากตัวด้วงต้นสาคู โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อคสมบูรณ์ (RCBD) นำข้อมูลมาหาค่าเฉลี่ย (𝑥̅) วิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และเปรียบเทียบความแตกต่างทางสถิติ (LSD) ผลการคัดเลือก สูตรพื้นฐานผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสด 3 สูตร พบว่าผู้ทดสอบชิมให้การยอมรับคุกกี้เนยสดสูตรที่ 2 ประกอบด้วยแป้งสาลีอเนกประสงค์ ผงฟู เนยสดชนิดเค็ม ไข่ไก่ น้ำตาลทรายป่น กลิ่นนมเนย คะแนนความชอบโดยรวม ลักษณะปรากฏ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส ของคุกกี้อยู่ในระดับชอบมากที่สุด ผลการศึกษาปริมาณตัวด้วงต้นสาคูที่เหมาะสมในผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสดที่ปริมาณต่างกัน 4 ระดับ คือ ร้อยละ 40 60 80 และ 100 ของน้ำหนักแป้งสาลีอเนกประสงค์ที่ใช้ในสูตร พบว่าผู้ทดสอบชิม ให้การยอมรับคุกกี้เนยสดสูตรที่เสริมตัวด้วงต้นสาคูร้อยละ 100 ของปริมาณแป้งสาลีในด้านความชอบโดยรวม ลักษณะปรากฏ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัสในระดับชอบมากที่สุด โดยการเสริมตัวด้วงจากต้นสาคูแบบสดมีผลต่อค่าสีของคุกกี้เนยสด ผลการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการพบว่าตัวด้วงสาคูแบบสด 100 กรัม มีโปรตีน 7.74 กรัม ไขมัน 17.89 กรัม และ โอเมก้า 3 (ALA) 0.03 กรัม ซึ่งมีผลให้คุกกี้เนยสดเสริมโปรตีนจากตัวด้วงต้นสาคู 100 กรัม มีพลังงาน 566.63 กิโลแคลอรี่ ไขมัน 36.39 กรัม โปรตีน 9.32 กรัม คาร์โบไฮเดรต 50.46 กรัม โอเมก้า 3 (ALA) 0.10 กรัม เถ้า 1.00 กรัม และความชื้น 2.81 กรัม โดยปริมาณโปรตีนและไขมันสูงกว่าคุกกี้เนยสดสูตรพื้นฐาน ผลศึกษาการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อ คุกกี้เนยสดเสริมโปรตีนจากตัวด้วงต้นสาคู ผู้บริโภคทั่วไป ร้อยละ 99.17 ให้การยอมรับเพราะผลิตภัณฑ์ มีความแปลกใหม่น่าสนใจ รสชาติดี อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสดเสริมโปรตีนจากตัวด้วงต้นสาคู ราคากล่องละ 60 บาท ในขนาดบรรจุ 90 กรัม (15 ชิ้น)

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติในวิถีถัดไปของผู้บริโภค จังหวัดสมุทรคราม
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภคในการใช้บริการร้านอาหาร คาเฟแนวธรรมชาติในวิถีถัดไปของผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม 2) ศึกษาการใช้บริการร้านอาหารคาเฟ แนวธรรมชาติ 3) ศึกษาปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ 4) เปรียบเทียบระดับความสำคัญของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภค และ 5) เปรียบเทียบระดับความสำคัญของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติจำแนกตามการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติในวิถีถัดไปของผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว ผลการวิจัย พบว่า 1) ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงที่มีอายุอยู่ในช่วง 25 - 35 ปี โดยมีการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งมีอาชีพเป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัท มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,001บาทขึ้นไป และผู้บริโภคส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี เป็นต้น 2) ผู้บริโภคเลือกใช้บริการเพราะบรรยากาศและสถานที่ตั้งดี อากาศถ่ายเทสะดวก ใกล้ชิดธรรมชาติ โดยเป็นการเลือกซื้ออาหารว่าง ประเภทปีกไก่ทอดเกลือมากที่สุด ทั้งนี้เลือกใช้ บริการเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 201 - 300 บาท ซึ่งมีการสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะตอนรับประทานอาหาร รวมทั้งผู้บริโภคเป็นลูกค้ามาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี เพราะเพื่อนชวนมาใช้บริการครั้งละ 3-5 คน ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณ 12.01 - 18.00 น. และผู้บริโภครู้จักร้านคาเฟแนวธรรมชาติจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Line, Facebook 3) ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติในวิถีถัดไปอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านเรียงจากมากไปหาน้อย พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือด้านผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ ด้านพนักงานบริการ และน้อยที่สุดคือ ด้านการส่งเสริมการขาย 4) ผลการเปรียบเทียบระดับความสำคัญของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของผู้บริโภค พบว่าทุกด้านมีความแตกต่างกันยกเว้นด้านอายุไม่มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 5) ผลการเปรียบเทียบระดับความสำคัญของปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดในการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ จำแนกตามการใช้บริการร้านอาหารคาเฟแนวธรรมชาติ พบว่า ทุกด้านมีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นด้านแนวปฏิบัติการบริโภคอาหารในวิถีถัดไป จำนวนคนที่มาใช้บริการ และช่วงวันที่ไปใช้บริการ ไม่มีความแตกต่างกัน