จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 71 )
ภูมิปัญญาวัฒนธรรมอาหารในงานพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาในกรุงเทพมหานคร
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประวัติความเป็นมาและบริบทชุมชนของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาในกรุงเทพมหานคร 2) ศึกษาภูมิปัญญาวัฒนธรรมอาหารในงานพิธีกรรมทางศาสนาของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาในกรุงเทพมหานคร 3) จัดทำตำรับอาหารในพิธีกรรมสำรับอาหารอัมเบิ๊งสูตรดั้งเดิมของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวา ดำเนินงานวิจัยด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงทดลองโดยศึกษาเก็บข้อมูลและทำการทดสอบประสาทสัมผัส กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาจำนวน 50 ครัวเรือนและปราชญ์ชุมชนจำนวน 10 ท่าน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามและแบบทดสอบทางประสาทสัมผัส 9-point hedonic scale สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลนำเสนอด้วยสถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัย พบว่า 1) ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาในกรุงเทพมหานครนั้นสืบเชื้อสายมาจากชาวมุสลิมเชื้อสายชวาที่ย้ายการตั้งถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงมีตั้งรกราก ขยายครัวเรือน ก่อสร้างมัสยิตเป็นศูนย์รวมจิตใจ จนเกิดเป็นชุมชนของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวาจนถึงปัจจุบัน 2) ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายชวานั้นยังคงสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอาหารสำรับใช้ในงานพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงผู้ล่วงลับนั้นคือสำรับอาหารอัมเบิ๊ง ซึ่งประกอบไปด้วยอาหาร 7 ชนิด คือ แกงอะป๊อรไก่, ผัดสะมากอแร๊ง, บัคกาแด๊ล, สะรุนแด๊ง, คะรังอะเซิ้ม, ปลาตองก๊อล และข้าวสวย 3) จัดทำตำรับอาหารในพิธีกรรมสำรับอาหารอัมเบิ๊งสูตรดั้งเดิมได้ผลการทดสอบจากทั้งหมด 5 สูตร พบว่า แกงอะป๊อรจากสูตรที่ 4 ผัดสะมากอแร๊งจากสูตรที่ 3 บัคกาแด๊ลจากสูตรที่ 3 สะรุนแด๊งจากสูตรที่ 1 คะรังอะเซิ้มจากสูตรที่ 4 และปลาต๊องก๊อลจากสูตรที่ 2 ได้รับการยอมรับมากที่สุด
การศึกษาสมรรถนะและแก๊สไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซลผสมก๊าซหุงต้ม
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดน้ำมันไบโอดีเซลกับก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงร่วม โดยวิธีการป้อนก๊าซหุงต้มผ่านอุปกรณ์ผสมก๊าซกับอากาศก่อนเข้าท่อร่วมไอดี โดยการศึกษานี้ทำการทดสอบกับเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ยี่ห้อคูโบต้า รุ่น ET70 ขนาด 401 cc ทดสอบที่ความเร็ว 1,500 rpm โดยการปรับเพิ่มภาระที่จ่ายให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับจาก 500 W ไปจนถึงภาระสูงสุดที่ 3,500 W การปรับภาระเครื่องยนต์ให้เพิ่มขึ้นในแต่ละครั้งจะทำการปรับความเร็วรอบของเครื่องยนต์ให้มีความเร็วรอบคงที่ ที่ 1,500 rpm และเครื่องยนต์ยังสามารถทำงานได้เป็นปกติ โดยการเพิ่มส่วนผสมของก๊าซหุงต้มให้ได้ปริมาณที่มากที่สุดร่วมกับน้ำมันไบโอดีเซลโดยจะอยู่ในช่วงร้อยละ 31-37 แล้วทำการบันทึกค่าต่าง ๆ ผลจากการทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันไบโอดีเซลผสมก๊าซหุงต้มเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล พบว่าแรงบิดที่ได้จากเชื้อเพลิงไบโอดีเซลผสมก๊าซหุงต้มไม่แตกต่างจากการใช้น้ำมันดีเซล และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงพบว่าสูงกว่าน้ำมันดีเซลอยู่ร้อยละ 3 - 9 แต่ให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อนที่สูงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียวร้อยละ 2 - 5 โดยสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการใช้น้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียวที่ร้อยละ 13 ด้านปริมาณควันดำของน้ำมันไบโอดีเซล (B20) ผสมก๊าซหุงต้มจะมีปริมาณควันดำน้อยกว่าทุกเชื้อเพลิง เมื่อเพิ่มอัตราส่วนผสมก๊าซหุงต้มมากขึ้น ให้เชื้อเพลิงทั้งสองชนิดพบว่าแรงบิดและปริมาณควันดำ มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าหากปรับอัตราส่วนผสมก๊าซหุงต้มเกินกว่าร้อยละ 37 จะทำให้เกิดการน็อกของเครื่องยนต์
การศึกษาสมรรถนะและแก๊สไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเมื่อใช้น้ำมันยางนาผสมน้ำมันดีเซล
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนา (B100) และน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนาผสมน้ำมันดีเซล ในอัตราส่วนร้อยละ 10, 15, 20, 50 และ 100 โดยปริมาตร เป็นเชื้อเพลิงโดยทดสอบกับเครื่องยนต์ยี่ห้อ IVECO รุ่น 8141E Series เป็นเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 4 จังหวะ ที่ความเร็วรอบเครื่องยนต์ 1000 ถึง 3500 rpm จากการทดสอบพบว่าแรงบิดและกำลังของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนา (B100) เป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 – 26.9 และร้อยละ 13.4 – 28.2 ตามลำดับ อัตราสิ้นเปลืองจำเพาะเบรกของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 – 47.9 ความดันในกระบอกสูบของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้น ปริมาณควันดำลดลงร้อยละ 30 – 79.1 เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลปกติเป็นเชื้อเพลิง การใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากยางนาทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้ควันดำลดลงอย่างชัดเจน และงานวิจัยนี้ยังศึกษาการผลิตและศึกษาความหนืดและความหนาแน่นของน้ำมันดีเซล น้ำมันไบโอดีเซลจากต้นยางนา (B100) และน้ำมันดีเซลผสมน้ำมันไบโอดีเซลจากต้นยางนา ภายใต้อุณหภูมิมาตรฐานและอุณหภูมิต่ำก่อนนำใช้ไปใช้งานในรถยนต์ คุณสมบัติของน้ำมันต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปล่อยไอเสียของรถยนต์ (ยูโร 6) ซึ่งบังคับใช้ในปี 2559 ตามมาตรฐานยูโร 6 ต้องทำการทดสอบการปล่อยมลพิษที่อุณหภูมิ -7oC ดังนั้นการศึกษาคุณสมบัติของน้ำมันภายใต้อุณหภูมิดังกล่าวก่อนนำไปใช้กับรถยนต์จริงจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในงานวิจัยนี้ใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนา (B100) น้ำมันดีเซลผสมน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนาสัดส่วนร้อยละ 5, 10, 15 และ 20 ภายใต้มาตรฐานการทดสอบ ASTM D341 ในขณะเดียวกันทำนายความหนืดและความหนาแน่นของน้ำมันโดยใช้สมการของ Riazi ผลการวิจัยพบว่าความหนาแน่นของน้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มอัตราส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล ผลการใช้สมการทำนายความหนาแน่นและความหนืดของน้ำมัน มีค่าแตกต่างกันร้อยละ 2 จากผลการทดลอง
การคำนวณและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์สำหรับการเชื่อมต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบออฟกริด
วิทยานิพนธ์นี้นำเสนอการคำนวณและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์สำหรับการเชื่อมต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบออฟกริด วัตถุประสงค์เพื่อออกแบบระบบโซลาร์เซลล์และคำนวณหาขนาดโหลดพื้นฐานที่เหมาะสมกับระบบโซลาร์เซลล์โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้กับระบบโซลาร์เซลล์แบบออฟกริดภายในวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้ประมวลผลการคำนวณและทดสอบกำลังไฟฟ้าใช้งาน กระแสไฟฟ้า การส่องสว่างและระบบโซลาร์เซลล์ที่ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ผลการคำนวณและทดสอบ พบว่าสามารถกำหนดขนาดของแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ ขนาดโหลดแสงสว่างที่เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งาน การวิเคราะห์ค่าพลังงานที่ผลิตได้จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบออฟกริดเป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่ประยุกต์ใช้งานในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชนบทที่ไม่มีระบบสายส่งไฟฟ้า อุปกรณ์สำคัญของระบบ ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์เชื่อมต่อโดยตรงกับโหลดทางไฟฟ้ากระแสตรง และอีกรูปแบบหนึ่งคือ การต่อแรงดันไฟฟ้าที่ได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์เข้ากับอุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่ ซึ่งแรงดันไฟฟ้าที่ได้สามารถใช้งานโดยการต่อกับโหลดทางไฟฟ้ากระแสตรง ในขณะเดียวกันกำลังไฟฟ้าที่เหลือสามารถนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่และสามารถแปลงผันพลังงานโดยใช้อุปกรณ์อินเวอร์เตอร์เพื่อเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับใช้กับโหลดทางไฟฟ้าที่เป็นกระแสสลับ ผลการศึกษาและผลการคำนวณ พบว่าโหลดของระบบมีค่า 3,128.62 วัตต์ แต่ใช้โหลดพัดลมและโหลดเครื่องปรับอากาศสลับกัน ดังนั้นจึงออกแบบอินเวอร์เตอร์ขนาด 3,000 วัตต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1,360 วัตต์ และแบตเตอรี่ขนาด 100 Ah จำนวน 2 ลูก ผลลัพธ์การคำนวณและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์สำหรับการเชื่อมต่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ออฟกริด พบว่าสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมได้ส่วนหนี่ง งานวิจัยในอนาคตจะทำการวิเคราะห์ลักษณะทางเศรษฐศาสตร์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาแบบออฟกริดเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการประหยัดและความคุ้มทุนในระยะยาว
การตรวจสอบพฤติกรรมของแผ่นเกราะพรุนแบบเรียงซ้อนที่มีความแข็งแรงสูงต่อกระสุนเจาะเกราะ 7.62 โดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการเสียรูปของแผ่นเกราะโลหะพรุนแบบเรียงซ้อนกันและวิเคราะห์ความเค้นที่เกิดขึ้นกับแผ่นเกราะโลหะพรุนแบบเรียงซ้อนที่มีความแข็งแรงสูงต่อกระสุนเจาะเกราะ 7.62 โดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ตามมาตรฐาน NIJ ระดับ 3 ANSYS Explicit/Dynamics ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ด้วยวิธีการรวมเวลา (Time Integration Method) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการตอบสนองแบบไดนามิกในกลศาสตร์ของแข็ง กระสุนที่ใช้ในการจำลองเป็นกระสุน 7.62x51 มิลลิเมตร ทำจากทังสเตนคาร์ไบด์ที่มีความเร็วตามมาตรฐาน NIJ 3 ในการวิเคราะห์จึงกำหนดรูปแบบความเสียหายของกระสุนเป็นแบบ Johnson-Holmquist Failure Model แผ่นเกราะพรุนทำมาจาก SKD 11 กำหนดให้เป็นวัสดุที่มีเนื้อเดียวกัน (Homogeneous) และมีสมบัติเหมือนกันในทุกทิศทุกทาง (Isotropic Materials) ความเสียหายที่เกิดขึ้นพิจารณาตั้งแต่ช่วงยืดหยุ่นเชิงเส้นไปจนถึงช่วงพลาสติกที่มีอัตราความเครียดสูง แผ่นเกราะพรุนมีขนาดความกว้างและความยาวเท่ากับ 300x300 มิลลิเมตร โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงความหนาของแผ่นเกราะพรุนเป็นกรณีต่างๆ รูพรุนจะช่วยเบี่ยงเบนทิศทางของกระสุนที่พุ่งเข้าเจาะเกราะที่มุมศูนย์องศา วัสดุ SKD11 ได้รับเลือกมาใช้เป็นวัสดุแผ่นหน้า แผ่นเกราะด้านหลังจะเป็นวัสดุ SUS304 ที่ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานการเคลื่อนที่ของกระสุน แบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้องโดยเปรียบเทียบผลวิเคราะห์กับการทดลอง จากผลการวิเคราะห์พบว่า การสร้างแผ่นเกราะให้มีรูพรุนในรูปแบบทะลุผ่านตลอดความหนาแผ่นเกราะนั้นไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการต้านทานการเจาะทะลุได้ แต่ในกรณีแผ่นเกราะมีรูพรุนแต่ไม่ทะลุตลอดความหนาจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการหักเหทิศทางกระสุน และเพิ่มความสามารถต้านทานการเจาะทะลุ อีกทั้งยังช่วยลดน้ำหนักของแผ่นเกราะลงได้