จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 71 )
การรับรู้คุณค่าทางสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร ของร้านจำหน่ายอาหารในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร ในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร 2) ศึกษาการรับรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร ในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร และ 3) พัฒนาสื่อส่งเสริมการรับรู้คุณค่ามาตรฐานสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหารในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สัมผัสอาหารของร้านจำหน่ายอาหารในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร 163 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนขนาดใหญ่ และโรงเรียนขนาดกลาง จำนวนขนาดละ 2 โรงเรียน ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 91 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 1 ความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร ในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร ผลการทดสอบความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร ผู้สัมผัสอาหารผ่านเกณฑ์การทดสอบความรู้ จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 54.95 และไม่ผ่านเกณฑ์ทดสอบความรู้ จำนวน 41 คน คิดเป็นร้อยละ 45.05 ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 2 การรับรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร ในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า 1) ระดับการรับรู้ด้านทัศนคติของผู้สัมผัสอาหาร ด้านสุขาภิบาลอาหาร หมวด 1 สถานที่จำหน่ายอาหาร อยู่ในระดับดี ยกเว้น หัวข้อที่ 1.1) ข้อที่ 7 จัดบริการช้อนกลางสำหรับอาหารที่ต้องรับประทานร่วมกัน รับรู้ร้อยละ 71.43 และ หัวข้อที่ 1.3) ข้อที่ 2 บริเวณที่ล้างภาชนะอุปกรณ์ ต้องมีความสว่างอย่างน้อย 300 ลักซ์ รับรู้ร้อยละ 89.01 หมวด 2 อาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบ ปรุง การเก็บรักษา และการจำหน่ายอาหาร อยู่ในระดับดี ยกเว้นหัวข้อที่ 2.1) อาหารสด อาหารแห้ง และอาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค ข้อที่ 8 อาหาร ปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคที่รอการจำหน่ายหรือบริการ ประเภทต้มหรือแกง เก็บที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส รับรู้ร้อยละ 97.80 และหัวข้อที่ 2.3) ข้อที่ 1 น้ำแข็งผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด รับรู้ร้อยละ 84.62 และหมวด 3 สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่น ๆ อยู่ในระดับดี ยกเว้น ข้อที่ 11 มีการฆ่าเชื้อภาชนะ ภายหลังการทำความสะอาด รับรู้ร้อยละ 97.80 2) ระดับการรับรู้การปฏิบัติตนตามมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร อยู่ในระดับดี ยกเว้นข้อที่ 3 การมีทะเบียนหรือหลักฐานผ่านการอบรมตามหลักสูตรสุขาภิบาลอาหารจากหน่วยงานจัดการอบรมที่กำหนด ไม่เคยปฏิบัติร้อยละ 60.43 ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 3 พัฒนาสื่อส่งเสริมการรับรู้คุณค่ามาตรฐานสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหารในสถานศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร จากผลการวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยได้พัฒนาสื่อในรูปแบบอินโฟกราฟิก (Infographic) สำหรับส่งเสริมการรับรู้คุณค่ามาตรฐานสุขาภิบาลอาหารให้กับผู้สัมผัสอาหารในสถานศึกษา โดยนำไปติดประชาสัมพันธ์ในสถานที่จำหน่ายอาหาร ของสถานศึกษา
การพัฒนาสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาวการณ์ในการสร้างสื่อของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ 2) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านคุณลักษณะกับด้านกลยุทธ์การสื่อสารในการพัฒนาสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ และ 3) พัฒนารูปแบบสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ติดตามช่องยูทูบด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ จำนวน 6 เพจที่มีผู้ติดตามตั้งแต่ 7.10 หมื่นคน ถึง 4.73 แสนคน และเคยเข้ารับชมสื่อออนไลน์ด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ อย่างน้อย 3 ครั้ง โดยใช้ตารางสุ่มของเครจซี่และมอร์แกน ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ระดับความคลาดเคลื่อน±ร้อยละ 5 ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 402 คน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญเครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุคูณ ผลการศึกษาวัตถุประสงค์ที่ 1 สภาวการณ์ในการสร้างสื่อของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ พบว่า 1) สภาวการณ์การรับชมสื่อคหกรรมศาสตร์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ พบว่า ผู้รับชมส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ช่วงอายุ 30 - 39 ปี เลือกรับชมงานประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ เรื่อง ของตกแต่ง เช่น ดอกไม้กระดาษ โมบาย ผ่านช่องทางยูทูบโดยใช้เวลาครั้งละประมาณ 5 - 10 นาที สัปดาห์ละ 1 - 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. และมักรับชมที่บ้าน ส่วนใหญ่พิจารณา เลือกรับชมสื่อจากปัจจัยด้านการสร้างสรรค์ 2) ระดับความสำคัญของปัจจัยคุณลักษณะของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่ส่งผลต่อการรับชมสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ ในภาพรวมและรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมาก โดยด้านความไว้วางใจมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และ 3) ระดับความสำคัญของปัจจัยด้านกลยุทธ์การสื่อสารของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่ส่งผลต่อการรับชมสื่อด้านคหกรรมศาสตร์ งานประดิษฐ์ ในภาพรวมและรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมาก โดยปัจจัยด้านเนื้อหา มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด สำหรับผลการศึกษาวัตถุประสงค์ที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านคุณลักษณะกับด้านกลยุทธ์การสื่อสาร ในการพัฒนาสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ พบว่า ปัจจัยด้านคุณลักษณะของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ ทั้ง 5 ตัวแปร สามารถร่วมกันพยากรณ์กลยุทธ์การสื่อสารของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีอำนาจทำนายประมาณ ร้อยละ 66.30ส่วนปัจจัยด้านกลยุทธ์ของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ 5 ตัวแปร สามารถร่วมกันพยากรณ์คุณลักษณะของผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีอำนาจทำนาย ประมาณร้อยละ 64.10 และผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ 3 พัฒนารูปแบบสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์จากผลการวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยได้ผลิตสื่อด้านคหกรรมศาสตร์งานประดิษฐ์ออนไลน์ประเภทยูทูบ เรื่อง การประดิษฐ์พวงหรีดจากกระดาษลอตเตอรี่ ที่มีรูปแบบสร้างสรรค์ โดยใช้เทคนิคการบรรยายด้วยภาพ ความยาว 5.07 นาที ซึ่งนำไปโพสต์ในช่องทางยูทูบ 3 เพจ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ มีผู้รับชมรวม 299 คน กดถูกใจ (like) รวม 92 คน กดติดตาม (Subscribe) รวม 95 คน และให้คำแนะนำหรือมีข้อคำถาม (Comment) รวม 1 คน
รูปแบบพิธีกรรมสู่การพัฒนาสำรับอาหารในพิธีมั่วโง้ย
งานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบพิธีกรรมในพิธีมั่วโง้ย 2) ศึกษาตำรับอาหารในพิธีมั่วโง้ย และ 3) ศึกษารูปแบบพิธีกรรมสู่การพัฒนาสำรับอาหารในพิธีมั่วโง้ย ผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึกและประชุมสนทนากลุ่ม คือ ผู้รู้ผู้ประกอบอาหาร และผู้ทรงคุณวุฒิที่อาศัยอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอกระทู้ และอำเภอถลางจังหวัดภูเก็ต จำนวน 45 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบไม่มีโครงสร้าง แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของสำรับอาหารใน พิธีมั่วโง้ย รวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือโดยใช้วิธีตรวจสอบสามเส้าด้านข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า 1) พิธีมั่วโง้ย เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองทายาทในครอบครัวที่มีอายุครบ 1 เดือน ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ตและปฏิบัติต่อมาถึงปัจจุบัน ในอดีตนิยมปฏิบัติเฉพาะครอบครัวที่มีลูกชาย ต่อมาได้รวมถึงลูกสาวด้วย 2) อาหารในพิธีมั่วโง้ย มี 4 ชนิด ได้แก่ อิ่วปึ่ง ทำจากข้าวเหนียวผัดกับน้ำมันและกุ้งแห้ง อั่งกู๊เป็นขนมสีแดงในพิมพ์รูปเต่า อั่งต๊าน คือ ไข่ต้มสุกย้อมสีผสมอาหารสีแดง ขนมฮวดโก้ย คือ ขนมถ้วยฟูสีชมพู ในการเตรียมอาหารและเครื่องเซ่นไหว้ เป็นความรับผิดชอบของคนในครอบครัวนำอาหารจัดเรียงในภาชนะที่เรียกว่า เสี่ยหนา มอบให้เครือญาติ และรับมอบของที่ระลึกตอบแทนการสืบทอดภูมิปัญญาในพิธีมั่วโง้ย เป็นการสืบทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น แต่ปัจจุบันลดน้อยลงและ 3) รูปแบบการจัดสำรับอาหารในพิธีมั่วโง้ยในภาพรวมมีความเหมาะในระดับมากที่สุด โดยมีข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยนี้ คือ ควรสืบสานภูมิปัญญาดังกล่าวนี้และควรประยุกต์ใช้อาหารในพิธีมั่วโง้ยเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว
การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส
การศึกษาเรื่องการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส เป็นการ วิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เคยทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 320 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ผลโดยการใช้วิธีหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ และเพื่อนำเสนอรูปแบบเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์ผลโดยการหาแก่นสาระ ผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 10 คน ผลวิจัยพบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเคยเดินทางไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารของจังหวัดเพชรบุรีครั้งล่าสุดเดินทางไปไม่เกิน 1 ปี มีการเดินทางเพื่อตามรอยการรับประทานอาหารท้องถิ่น มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารหรือเป็นของฝาก ต่ำกว่า 5,000 บาทและมีประสบการณ์ความทรงจำนึกถึงอาหารของจังหวัดเพชรบุรี คือ ด้านรสชาติของอาหารท้องถิ่น ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจเรื่องเล่าอาหารเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส พบว่า มี 5 องค์ประกอบ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 เรื่องเล่ารู้แหล่งที่มาของอาหาร 9 ตัวแปร องค์ประกอบที่ 2 เรื่องเล่าวัตถุดิบของอาหาร 9 ตัวแปร องค์ประกอบที่ 3 เรื่องเล่ามรดกของอาหาร 8 ตัวแปร องค์ประกอบที่ 4 เรื่องเล่ากรรมวิธีการทำอาหารในท้องถิ่น 3 ตัวแปร องค์ประกอบที่ 5 เรื่องเล่าความปลอดภัยของอาหาร 3 ตัวแปร และผลพบว่า แก่นสาระขององค์ประกอบเรื่องเล่า อาหารต่อเมืองเพ็ชร์: เมืองสามรส สามารถแบ่งได้ดังนี้ 1) เรื่องเล่ารู้แหล่งที่มาของอาหาร ประกอบด้วย แก่นสาระที่ 1 เรื่องเล่ารู้แหล่งที่มาของเกลือ แก่นสาระที่ 2 เรื่องเล่ารู้แหล่งที่มา ของน้ำตาลโตนด แก่นสาระที่ 3 เรื่องเล่ารู้แหล่งที่มาของมะนาวแป้น และ แก่นสาระที่ 4 เรื่องเล่า ระบบนิเวศของอาหาร 2) เรื่องเล่าวัตถุดิบของอาหาร ประกอบด้วย แก่นสาระที่ 1 เรื่องเล่าการใช้ วัตถุดิบของมะนาวแป้น เกลือ และน้ำตาลโตนด และ แก่นสาระที่ 2 เรื่องเล่ารสชาติของอาหาร ในท้องถิ่น 3) เรื่องเล่ามรดกของอาหาร ประกอบด้วย แก่นสาระที่ 1 เรื่องเล่าการใช้วัตุดิบในท้องถิ่น 4) เรื่องเล่ากรรมวิธีการทำอาหารในท้องถิ่น ประกอบด้วย แก่นสาระที่ 1 เรื่องเล่าโภชนาการอาหารในท้องถิ่น และ 5) เรื่องเล่าความปลอดภัยของอาหาร ประกอบด้วย แก่นสาระที่ 1 เรื่องเล่าภูมิปัญญาและความปลอดภัยของอาหาร
การใช้แป้งมะม่วงในผลิตภัณฑ์ขนมทองพับ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสูตรพื้นฐานของขนมทองพับ 2) ศึกษาชนิดของแป้งมะม่วงที่เหมาะสมสำหรับทำขนมทองพับ 3) ศึกษาปริมาณแป้งมะม่วงที่เหมาะสมในการทดแทนแป้งสาลีในขนมทองพับแป้งมะม่วง และ 4) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของขนมทองพับแป้งมะม่วงประเมินผลจากการทดสอบความชอบทางประสาทสัมผัสโดยผู้ทดสอบชิม ผลการศึกษาพบว่าผู้ทดสอบชิมให้คะแนนความชอบสูตรพื้นฐานของขนมทองพับสูตรที่ 1 มากที่สุด ผลการศึกษาคุณภาพของมะม่วงดิบและแป้งมะม่วงที่ได้ พบว่ามะม่วงแก้วขมิ้นมีสีเหลืองมากกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้และมะม่วงทวายเดือนเก้า ค่าพีเอช (pH) ของเนื้อมะม่วงมีความเป็นกรด โดยมะม่วงแก้วขมิ้นมีค่าพีเอชต่ำสุดที่ 1.87 มะม่วงน้ำดอกไม้มีค่าความหวานที่วัดในรูปของปริมาณของแข็งที่ละลายได้ สูงสุดที่ 11.13 Brix แป้งจากมะม่วงทั้ง 3 ชนิดมีสีแตกต่างกันตามลักษณะเนื้อผลดิบของแต่ละสายพันธุ์ โดยแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นซึ่งเนื้อผลดิบมีสีเหลือง มีค่าสี a* และ b* มากที่สุด (p≤0.05) เมื่อนำมาผลิตเป็นแป้งมีสีเหลืองเข้มมากกว่าแป้งจากมะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงทวายเดือนเก้า ปริมาณแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นที่ใช้ทดแทนแป้งสาลีในขนมทองพับมีผลต่อค่าสีและความหนาของขนมทองพับ เมื่อเพิ่มปริมาณแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นมากขึ้นมีผลให้ขนมทองพับมีความหนาเพิ่มขึ้น เนื้อสัมผัสเปราะ แตกหักง่ายขึ้น ขนมทองพับสูตรที่ทดแทนแป้งสาลีด้วยแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นปริมาณร้อยละ 50 ได้รับการยอมรับมากที่สุด ขนมทองพับมะม่วงแก้วขมิ้นมีคุณค่าทางโภชนาการที่เด่นชัด คือ ปริมาณขนม 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน 1227.9 ไมโครกรัม และยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ และใยอาหาร