จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 86 )

การใช้แป้งมะม่วงในผลิตภัณฑ์ขนมทองพับ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสูตรพื้นฐานของขนมทองพับ 2) ศึกษาชนิดของแป้งมะม่วงที่เหมาะสมสำหรับทำขนมทองพับ 3) ศึกษาปริมาณแป้งมะม่วงที่เหมาะสมในการทดแทนแป้งสาลีในขนมทองพับแป้งมะม่วง และ 4) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของขนมทองพับแป้งมะม่วงประเมินผลจากการทดสอบความชอบทางประสาทสัมผัสโดยผู้ทดสอบชิม ผลการศึกษาพบว่าผู้ทดสอบชิมให้คะแนนความชอบสูตรพื้นฐานของขนมทองพับสูตรที่ 1 มากที่สุด ผลการศึกษาคุณภาพของมะม่วงดิบและแป้งมะม่วงที่ได้ พบว่ามะม่วงแก้วขมิ้นมีสีเหลืองมากกว่ามะม่วงน้ำดอกไม้และมะม่วงทวายเดือนเก้า ค่าพีเอช (pH) ของเนื้อมะม่วงมีความเป็นกรด โดยมะม่วงแก้วขมิ้นมีค่าพีเอชต่ำสุดที่ 1.87 มะม่วงน้ำดอกไม้มีค่าความหวานที่วัดในรูปของปริมาณของแข็งที่ละลายได้ สูงสุดที่ 11.13 Brix แป้งจากมะม่วงทั้ง 3 ชนิดมีสีแตกต่างกันตามลักษณะเนื้อผลดิบของแต่ละสายพันธุ์ โดยแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นซึ่งเนื้อผลดิบมีสีเหลือง มีค่าสี a* และ b* มากที่สุด (p≤0.05) เมื่อนำมาผลิตเป็นแป้งมีสีเหลืองเข้มมากกว่าแป้งจากมะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงทวายเดือนเก้า ปริมาณแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นที่ใช้ทดแทนแป้งสาลีในขนมทองพับมีผลต่อค่าสีและความหนาของขนมทองพับ เมื่อเพิ่มปริมาณแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นมากขึ้นมีผลให้ขนมทองพับมีความหนาเพิ่มขึ้น เนื้อสัมผัสเปราะ แตกหักง่ายขึ้น ขนมทองพับสูตรที่ทดแทนแป้งสาลีด้วยแป้งมะม่วงแก้วขมิ้นปริมาณร้อยละ 50 ได้รับการยอมรับมากที่สุด ขนมทองพับมะม่วงแก้วขมิ้นมีคุณค่าทางโภชนาการที่เด่นชัด คือ ปริมาณขนม 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีน 1227.9 ไมโครกรัม และยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินซี วิตามินเอ และใยอาหาร

การพัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน
อาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความสำคัญ เพราะสะท้อนถึงรูปแบบวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวได้ ในขณะที่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านการสืบทอดที่อาจส่งผลให้ภูมิปัญญาอาหารของชุมชนสูญหายไป งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฎการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาบริบทอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน บันทึกตำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน และพัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน ผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก คือ ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกส ญวน ไทย จำนวน 18 คน และในการประชุมสนทนากลุ่ม จำนวน 18 คน คือ ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกส ญวน ไทย บุคลากรภาครัฐผู้ประกอบการในชุมชน และนักท่องเที่ยว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็น แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกตำรับอาหาร และแบบประเมิน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินความเหมาะสมของสำรับอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ แก่นสาระ ผลการวิจัย พบว่า 1) อาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน รวบรวมรายชื่อได้ 53 รายการ สำหรับวัฒนธรรมการทำอาหาร วัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการใช้อุปกรณ์ในการทำอาหาร พบว่า ปัจจุบันยังมีการทำอาหารภูมิปัญญาของเชื้อสายต่าง ๆ มีการกินอาหารแบบดั้งเดิมและบางครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และใช้อุปกรณ์จากทองเหลืองและไม้ในการทำอาหาร เช่นในอดีตอยู่หลายครอบครัว 2) ตำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น 3 เชื้อสายมีจำนวน 21 ตำรับ ได้แก่ ตำรับเชื้อสายโปรตุเกส 12 ตำรับ เชื้อสายญวน 4 ตำรับ เชื้อสายไทย 5 ตำรับ 3) พัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น 8 สำรับ โดยมีผลการประเมินความเหมาะสมในระดับมาก งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การทำอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์อาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ และจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ด้านอาหารแก่นักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวาน ของนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์
การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ 2) ศึกษาปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่ใช้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานของนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ 3) ศึกษาการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานของนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์4) หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวกับการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ และ 5) หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดกับการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานของนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานในจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าไคสแควร์ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวาน จังหวัด เพชรบูรณ์ ผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 58.00 มีอายุอยู่ในช่วง 31 - 40 ปี ร้อยละ 29.25 โดยเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 33.25 ที่มีรายได้ 30,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 27.25และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 41.50 2) นักท่องเที่ยวที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานในจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ความสำคัญต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดโดยรวม อยู่ในระดับมาก ( X̅ = 4.23, S.D. = 0.544) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านสรุปได้ว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านช่องทางการจัดจาหน่าย ( X̅ = 4.31, S.D. = 0.660) รองลงมาคือ ด้านผลิตภัณฑ์ (X̅ = 4.26, S.D. =0.569) และน้อยที่สุดคือ ด้านทำเลที่ตั้ง (X̅ = 4.17, S.D. = 0.756) 3) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์ มะขามหวานในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะเพื่อเป็นของฝาก ร้อยละ 31.50 ซึ่งเป็นประเภทมะขามฝัก ได้แก่มะขามผ่าไร้เมล็ด มะขามแกะเปลือก มะขามฝักสด ร้อยละ 33.00 ทั้งนี้ นานๆ ครั้ง จะซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวาน ร้อยละ 38.25 ในปริมาณครั้งละ 2-3 ถุง/กล่อง ร้อยละ 47.00 โดยมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,001-2,000บาท ร้อยละ 38.00 4) อายุ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ภูมิลาเนาของนักท่องเที่ยว มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 5) ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดของนักท่องเที่ยว ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์

การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน
อาหารท้องถิ่นกับวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ แบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ศึกษาข้อมูลอาหารท้องถิ่นบนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน และพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จำนวน 35 คน และนักท่องเที่ยว 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมิน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ ผลการวิจัย พบว่า 1) ในชุมชนกุฎีจีนมีสถานที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โบสถ์ซางตาครู้ส เรือนจันทนภาพ และศาลเจ้าเกียนอันเกง ประกอบด้วย เส้นทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยาน มีร้านอาหาร 11 ร้านที่ให้บริการอาหารทั่วไปและอาหารท้องถิ่น 2) อาหารท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาชุมชนและให้บริการในปัจจุบัน จำนวน 20 รายการ 3) ผลการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน 2 โปรแกรม พบว่า มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในระดับมาก โดยมีข้อเสนอแนะให้เน้นความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ด้านอาหารในโปรแกรมเพิ่มขึ้น กาหนดเส้นทางที่สอดคล้องกับการเดินเท้าหรือการปั่นจักรยาน และชูประเด็นของอาหารท้องถิ่นที่ต้องการนำเสนอ งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้ทำป้ายสัญลักษณ์แสดงข้อมูลพื้นที่ ปรับปรุงเส้นทาง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลอาหารท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบัน และจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นในรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพกลุ่มเล็กที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของชุมชน

การพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์และพัฒนาโปรแกรมเพื่อการพยากรณ์ค่า PM 2.5
การศึกษานี้เป็นการพัฒนาแบบจำลองเพื่อการคาดการณ์ PM 2.5 โดยใช้ Machine Learning Model ทั้งหมด 6 แบบจำลอง ได้แก่ Decision Tree Model, Gradient Boosting Model, K-neighbors Model, MLP Model, Random Forest Model, และ Ridge Model จากชุดข้อมูลของ PM 2.5 จำนวน 2.3 ล้านข้อมูล โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 - ธันวาคม พ.ศ. 2564 จากสถานีตรวจวัดจำนวน 63 สถานี ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในการพัฒนาแบบจำลองได้เริ่มจากการตรวจสอบความถูกต้องและคัดกรองข้อมูล และนำข้อมูลมาจัดกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 และข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับใช้พัฒนาแบบจำลองและทดสอบประสิทธิภาพของแบบจำลอง ทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 และในงานวิจัยนี้ได้นำข้อมูลย้อนหลัง (Historic data) มาใช้ในการพัฒนาแบบจำลอง จากการวิเคราะห์ พบว่า ผลการพัฒนาแบบจำลองโดยใช้ข้อมูลในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 และใช้ข้อมูลย้อนหลังรายชั่วโมง (Lag by Hour) ประกอบ ให้ผลการวิเคราะห์ดีที่สุดด้วยแบบจำลอง Gradient Boosting Model มีค่า R2 = 0.9533, RMSE = 4.1344 และ MAPE = ร้อยละ 17.13 ในขณะที่ผลการทดสอบประสิทธิภาพของแบบจำลองด้วยชุดข้อมูลทั้งช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 และในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ก็พบว่า Gradient Boosting Model มีผลการทดสอบที่ดีที่สุด โดยมีค่า R2 = 0.8790, RMSE = 6.1375 และ MAPE = ร้อยละ 20.68 และ R2 = 0.8720, RMSE = 5.1344 และ MAPE = ร้อยละ 27.18 ตามลำดับ งานวิจัยนี้สรุปได้ว่า Gradient Boosting Model เป็นแบบจำลองที่เหมาะสมต่อการนำมาคาดการณ์ PM 2.5 ทั้งในช่วงสถานการณ์ปกติ และช่วงที่มี การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการคาดการณ์โดยใช้ข้อมูลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้ประสิทธิภาพของแบบจำลองลดลงเล็กน้อย สำหรับแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพรองลงมา ได้แก่ Random Forest Model, MLP Model, Decision Tree Model, K-neighbors Model, และ Ridge Model ตามลำดับ