จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 71 )
อัตลักษณ์ลวดลายผ้าบาติกด้วยสีครามธรรมชาติ สู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก จังหวัดสงขลา
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาอัตลักษณ์เมืองเก่าสงขลาในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก 2) ศึกษากระบวนการสร้างลวดลายบนผืนผ้าบาติกด้วยสีครามธรรมชาติ 3) ออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้เป็นสินค้าที่ทันสมัยโดยใช้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน ด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างที่กำหนดเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่จาเป็นตามวัตถุประสงค์ได้แก่ ผู้ที่อาศัยในชุมชนย่านเมืองเก่า อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมเมืองเก่า จำนวน 5 คน เพื่อศึกษาอัตลักษณ์เมืองเก่าสงขลาในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใยและการออกแบบทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 5 คนเพื่อศึกษากระบวนการสร้างลวดลายบนผืนผ้าบาติกด้วยสีครามธรรมชาติ และนักท่องเที่ยวพื้นที่ย่าน เมืองเก่า อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา จำนวน 150 คน เพื่อประเมินความพึงพอใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้เป็นสินค้าที่ทันสมัยโดยใช้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสอบถาม และแบบประเมินความพึงพอใจวิธีดำเนินการวิจัย ทำการศึกษาอัตลักษณ์เมืองเก่าสงขลาในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเชิงลึก จากนั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบลวดลายและสร้างสรรค์เป็นลวดลายบาติกด้วยการย้อมสีครามธรรมชาติ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก จำนวน 1 คอลเลคชั่นประเมินความพึงพอใจจากนักท่องเที่ยว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ส่วน เบี่ยงเบนมาตรฐานผลการศึกษา ด้านอัตลักษณ์เมืองเก่าสงขลาในการออกแบบลวดลายผ้าบาติก พบว่าเมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองสำคัญที่มีมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม และเป็นแหล่งผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของกลุ่มคนสามศาสนาคือชาวไทยพุทธ ไทยจีน และไทยมุสลิม ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบวิถีชีวิตชุมชนที่มีเอกลักษณ์และ รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีรูปแบบงานศิลปกรรมจากลวดลายธรรมชาติผสมผสานลวดลายสถาปัตยกรรม ผู้วิจัยนาความหมายที่มีร่วมกันของรูปแบบลวดลาย รวมถึงทฤษฎีการออกแบบและความคล้ายคลึงกัน โดยมีองค์ประกอบของสี โครงร่างเงา รายละเอียดตกแต่ง และวัสดุทำให้เกิดเป็นลวดลายใหม่ที่สวยงามและแฝงด้วยเรื่องราวของอัตลักษณ์เมืองเก่าสงขลา ด้านผลการศึกษากระบวนการสร้างลวดลายบนผืนผ้าบาติกด้วยสีครามธรรมชาติ พบว่า ลวดลายที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 คน คือ ลวดลายที่ 1 จากแนวคิดการออกแบบของโรงสีแดง หับ โห้ หินมัสยิดบ้านบน และประตูเมืองสงขลา มีเอกลักษณ์เฉพาะในด้านโครงสร้างตัวอาคารผสมผสานระหว่างอาคารในย่านเมืองเก่าประกอบเป็นโครงสร้างและนาลักษณะของเส้นโค้งที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวจากลวดลายช่องลมมาประกอบเป็นลวดลายที่สะท้อนความงามและอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ จากนั้นนำไปสร้างสรรค์ลวดลายบาติกและย้อมสีครามธรรมชาติ ทาการทดสอบความคงทนของสีต่อแสง พบว่ามีความคงทน >4 ทดสอบความคงทนของสีต่อการซัก พบว่า มีความคงทนระดับ 4 ทดสอบความคงทนของสีต่อการขัดถู พบว่า มีความคงทนสภาวะแห้ง ระดับ 2 - 3 ความคงทนสภาวะเปียก ระดับ 1 - 2 และความต้านทานต่อการขัดถู พบว่า มีความต้านทาน >10,000 ครั้ง และประเมินความพึงพอใจจากนักท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจังหวัดสงขลาประเภทเสื้อผ้า มีค่าคะแนนสูงสุด (𝑥̅=4.34) รองลงมาผ้าโพกศีรษะและรองเท้าเท่ากัน (𝑥̅=4.30) กระเป๋า (𝑥̅=4.28) และหมวก(𝑥̅=4.27) ตามลำดับ โดยรวมมีค่าเฉลี่ยได้รับความพึงพอใจในระดับมาก (𝑥̅= 4.30)
ภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง 2) พัฒนาสูตรมาตรฐานขนมทองหยิบจากความรู้ภูมิปัญญาไทย และ 3) จัดทำคู่มือภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง โดยใช้การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ประกอบการด้านขนมทองหยิบ และนักวิชาการด้านขนมทองหยิบในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลาง โดยเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูลองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบจำนวน 18 คน ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง (In-depth Interview with Structure) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านขนมทองหยิบ จำนวน 12 คนทำการทดสอบทางประสาทสัมผัสผลิตภัณฑ์ขนมทองหยิบในการคัดเลือกสูตรมาตรฐานและศึกษากระบวนการผลิตขนมทองหยิบที่เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ประเมินความเหมาะสมของคู่มือ และบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนรู้การผลิตขนมทองหยิบ จำนวน 48 คน ทดสอบความรู้ก่อน-หลังการใช้คู่มือ และประเมินความพึงพอใจต่อคู่มือภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง การสุ่มกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และแบบลูกโซ่(Snowball Sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการศึกษา พบว่า 1) ผู้ประกอบการและนักวิชาการด้านขนมทองหยิบแบ่งองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลางออกเป็น 9 กลุ่มภูมิปัญญา คือ (1) การเตรียมวัตถุดิบ (2) การเตรียมอุปกรณ์ (3) การเตรียมน้ำเชื่อมใส (4) การเตรียมน้ำเชื่อมข้น (5) การเตรียมไข่แดง (6) การต้มแผ่นไข่ (7) การตรวจสอบคุณภาพของแผ่นไข่ (8) การขึ้นรูปขนมทองหยิบ และ (9) การลดกลิ่นคาวไข่ โดยสืบทอดภูมิปัญญาผ่าน 4 ขั้นตอน คือ การแสวงหาความรู้ การจัดเก็บความรู้ การประยุกต์ใช้ความรู้ และการถ่ายทอดความรู้ 2) สูตรมาตรฐานและกระบวนการผลิตขนมทองหยิบใช้ไข่แดงของไข่เป็ดและไข่ไก่ผสมกัน น้าเชื่อมข้นมีลักษณะความข้นปานกลาง สีของน้ำเชื่อมมีความขุ่นเล็กน้อย การปรับคุณภาพน้ำเชื่อมข้นให้เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญโดยการควบคุมความเข้มข้นของน้ำเชื่อมข้นที่ 70 องศาบริกซ์ และเติมน้ำไข่แดงร้อยละ 3 ของปริมาณน้ำเชื่อมข้นทั้งหมด ส่งผลต่อการยอมรับของผลิตภัณฑ์ขนมทองหยิบอยู่ในระดับ ชอบมากที่สุดใน ด้านรสชาติ ลักษณะปรากฏ สี ความชอบโดยรวม ความฉ่ำน้ำเชื่อม กลิ่น และ เนื้อสัมผัส โดยมีค่าเฉลี่ย 8.16, 8.08, 8.08, 7.75, 7.66, 6.91 และ 6.91 ตามลำดับ และ 3) ผลการจัดทำคู่มือภูมิปัญญาไทยการผลิตขนมทองหยิบกลุ่มจังหวัดภาคกลาง พบว่า คู่มือที่ได้เป็นสื่อที่อ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย สามารถลงมือปฏิบัติตามได้ด้วยตนเอง ได้ผลิตภัณฑ์ขนมทองหยิบมีความสมบูรณ์ตรงกับลักษณะที่ดีของขนมทองหยิบ มีค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) เท่ากับ 0.70 ผู้ใช้คู่มือมีความรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 70.27 มีความรู้หลังการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการฝึกอบรม และคู่มือมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̅ = 4.75, S.D. = 0.29)
การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสตรีพลัสไซซ์
การวิจัยเรื่อง การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสตรีพลัสไซซ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการที่มีต่อรูปแบบการแต่งกายของสตรีพลัสไซซ์ 2) ออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสตรีพลัสไซซ์ 3) ศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบเสื้อผ้าสตรีพลัสไซซ์ โดยดำเนินการสำรวจความต้องการในรูปแบบเสื้อผ้าจากสตรีพลัสไซซ์ ซึ่งกลุ่มสตรีพลัสไซซ์ให้ความสำคัญแนวคิดในการแต่งกาย แนวคิดในการออกแบบรูปแบบของเสื้อผ้าที่มีความทันสมัย แปลกใหม่ ตามแนวโน้มแฟชั่น และส่งเสริมความมั่นใจให้กับสตรีพลัสไซซ์ ทำการออกแบบเสื้อผ้าสตรีพลัสไซซ์ 3 คอลเลคชั่น คอลเลคชั่นละ 6 ชุด ประกอบด้วยเสื้อเชิ้ต เสื้อคลุม เสื้อครอป กางเกงขาสั้น และกางเกงขายาว ได้รับแรงบันดาลใจจาก Oceana ทะเลในฤดูร้อนที่มีการสะท้อนจากแสงอาทิตย์ และเฉดสีการไล่ระดับของน้ำทะเล มาการออกแบบเป็นเสื้อผ้าสตรีพลัสไซซ์ที่มีความหลากหลายสามารถเลือกจับคู่สวมใส่ได้ และร่วมกับการศึกษาแนวโน้มแฟชั่นปี 2024 แล้วทำการคัดเลือก 1 คอลเลคชั่น จัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบเสื้อผ้าสตรีพลัสไซซ์จากกลุ่มเป้าหมายสตรีพลัสไซซ์ที่มีอายุ 25-40 ปี จำนวน 50 คนโดยใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มสตรีพลัสไซซ์ส่วนใหญ่มีอายุ 25-29 ปี ร้อยละ82.00 ระดับการศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 90.00 อาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 44.00 รายได้ต่อเดือน 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 34.00 ซึ่งจากการสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบเสื้อผ้าสตรีพลัสไซซ์โดยรวมมีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ย (x̅ = 4.49) สตรีพลัสไซซ์ให้ความสำคัญแนวคิดการสร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจการออกแบบ รูปแบบรายละเอียด การตกแต่งมองภาพองค์รวมของชุด เสริมทัศนคติการแต่งกายของแต่ละบุคคลให้เห็นมุมมองการแต่งกายที่ความแตกต่าง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสตรีพลัสไซซ์ กล้าที่จะแต่งกายในรูปแบบของตนเอง
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมเสน่ห์จันทน์เพื่อสุขภาพ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสูตรพื้นฐานขนมเสน่ห์จันทน์ 2) ศึกษาผลของการใช้น้ำตาลหญ้าหวานทดแทนน้ำตาลทรายและใช้กะทิธัญพืชทดแทนกะทิในสูตรขนมเสน่ห์จันทน์ และ 3) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของขนมเสน่ห์จันทน์ที่ใช้น้ำตาลหญ้าหวานทดแทนและกะทิธัญพืช ทดแทนกะทิ โดยประเมินคุณภาพของขนมเสน่ห์จันทน์ทางประสาทสัมผัสในด้านลักษณะปรากฏ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวม ด้วยวิธีการชิมแบบให้คะแนนความชอบ 9 ระดับ (9-Point Hedonic Scale) ผลการวิจัยที่มีการวางแผนการทดลองและวิเคราะห์ผลทางสถิติ พบว่า 1) ขนมเสน่ห์จันทน์สูตรพื้นฐานที่ได้รับการคัดเลือกมีส่วนผสมของแป้งข้าวเจ้า 110 กรัม แป้งข้าวเหนียว 15 กรัม กะทิ 250 กรัม น้ำตาลทราย 185 กรัม ไข่แดง 420 กรัม ผงลูกจันทน์ป่น 0.5 กรัม และสีผสมอาหารสีเหลืองและสีน้ำตาล 2) ขนมเสน่ห์จันทน์สูตรที่พัฒนาได้เป็นสูตรที่ใช้น้ำตาลหญ้าหวานทดแทนน้ำตาลทรายร้อยละ 50 และใช้กะทิธัญพืชทดแทนกะทิร้อยละ 100 และ 3) คุณค่าทางโภชนาการขนมเสน่ห์จันทน์ที่ใช้น้ำตาลหญ้าหวานทดแทนน้ำตาลทรายร้อยละ 50 และใช้กะทิธัญพืชมีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับขนมเสน่ห์จันทน์สูตรพื้นฐาน โดยปริมาณขนม 100 กรัม มีค่าพลังงาน 359.66 กิโลแคลอรี่ โปรตีน 7.29 กรัม ไขมัน 16.38 กรัม ความชื้น 29.66 กรัม คาร์โบไฮเดรต 45.77 กรัม และน้ำตาล 11.09 กรัม คำสำคัญ: ขนมเสน่ห์จันทน์, น้ำตาลหญ้าหวาน, กะทิธัญพืช
แป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปจากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่สำหรับขนมถ้วยเค็ม
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลประวัติ เรื่องราวของขนมถ้วยเค็ม 2) ศึกษา ปริมาณน้ำที่เหมาะสมในสูตรขนมถ้วยเค็มจากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ 3) ศึกษาปริมาณส่วนหน้าขนมสำหรับเสริมในสูตรแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปจากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ และ 4) ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปจากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่สำหรับขนมถ้วยเค็ม ผลการศึกษาข้อมูลของขนมถ้วยเค็ม หรือขนมเกี่ยมโก้ย เป็นขนมพื้นถิ่นจังหวัดภูเก็ต มีมาตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต เป็นขนมสดที่คงรูปถ้วยตะไล ตัวขนมสีขาวทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่ง มีรสเค็มเล็กน้อย โรยหน้าด้วยหอมเจียว ต้นหอม และกุ้งแห้งทอด และราดด้วยน้ำจิ้มสามรส ปัจจุบันขนมถ้วยเค็มที่จำหน่ายมักวางในถาดโฟม มีส่วนหน้าขนมได้แก่ หอมเจียว ต้นหอมซอย กุ้งแห้งป่น และถุงน้ำจิ้มวางไว้ข้างๆ หุ้มด้วยพลาสติกใส ราคาห่อละ 5 - 12บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้นขนม มีจำหน่ายตอนเช้าตามตลาดสด ร้านขายขนมและร้านกาแฟโบราณ ผลการศึกษาเพื่อพัฒนาสูตรแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปสาหรับขนมถ้วยเค็มโดยเปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าเป็นแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ พบว่าค่าสี และค่า aw ของแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่มีความแตกต่างกัน (p ≤ 0.05) ขนมถ้วยเค็มแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ใช้ปริมาณน้ำเป็นส่วนผสมมากกว่าปริมาณที่ใช้ในสูตรขนมถ้วยเค็มแป้งข้าวเจ้า ผลการศึกษาปริมาณส่วนหน้าขนมที่อบแห้งก่อนนำมาเสริมในสูตรแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปสำหรับขนมถ้วยเค็ม พบว่าการเสริมส่วนของหน้าขนมปริมาณต่างกันมีผลต่อค่าสีค่า aw ของแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูป และมีผลต่อคะแนนความชอบทางประสาทสัมผัสของขนมถ้วยเค็ม (p ≤ 0.05) โดยสูตรที่เสริมปริมาณหน้าขนมอบแห้ง 25 กรัม ได้รับคะแนนความชอบจากผู้ทดสอบชิมมากที่สุดคุณค่าโภชนาการของแป้งผสมกึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณแร่ธาตุที่ได้จากแป้งข้าวไรซ์เบอรี่มากกว่าสูตรพื้นฐาน ที่เป็นแป้งข้าวเจ้า ได้แก่ ธาตุสังกะสี โอเมก้า - 3 โฟเลต เบต้าแคโรทีน แกมมา - โอไรซานอล แอนโทไซ ยานิน โพลิฟีนอล แทนนิน และวิตามินอี และปริมาณโซเดียมลดลงด้วย