จำนวนวิทยานิพนธ์ ( 27 )
การพัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน
อาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความสำคัญ เพราะสะท้อนถึงรูปแบบวิถีชีวิต วัฒนธรรม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวได้ ในขณะที่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านการสืบทอดที่อาจส่งผลให้ภูมิปัญญาอาหารของชุมชนสูญหายไป งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฎการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาบริบทอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน บันทึกตำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน และพัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน ผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์เชิงลึก คือ ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกส ญวน ไทย จำนวน 18 คน และในการประชุมสนทนากลุ่ม จำนวน 18 คน คือ ผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกส ญวน ไทย บุคลากรภาครัฐผู้ประกอบการในชุมชน และนักท่องเที่ยว เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็น แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบบันทึกตำรับอาหาร และแบบประเมิน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินความเหมาะสมของสำรับอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ แก่นสาระ ผลการวิจัย พบว่า 1) อาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนกุฎีจีน รวบรวมรายชื่อได้ 53 รายการ สำหรับวัฒนธรรมการทำอาหาร วัฒนธรรมการกิน วัฒนธรรมการใช้อุปกรณ์ในการทำอาหาร พบว่า ปัจจุบันยังมีการทำอาหารภูมิปัญญาของเชื้อสายต่าง ๆ มีการกินอาหารแบบดั้งเดิมและบางครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และใช้อุปกรณ์จากทองเหลืองและไม้ในการทำอาหาร เช่นในอดีตอยู่หลายครอบครัว 2) ตำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น 3 เชื้อสายมีจำนวน 21 ตำรับ ได้แก่ ตำรับเชื้อสายโปรตุเกส 12 ตำรับ เชื้อสายญวน 4 ตำรับ เชื้อสายไทย 5 ตำรับ 3) พัฒนาสำรับอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่น 8 สำรับ โดยมีผลการประเมินความเหมาะสมในระดับมาก งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การทำอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่คนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์อาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านช่องทางต่าง ๆ และจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์ด้านอาหารแก่นักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน
อาหารท้องถิ่นกับวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ชุมชนยังประสบปัญหาด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ แบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ศึกษาข้อมูลอาหารท้องถิ่นบนเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน และพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จำนวน 35 คน และนักท่องเที่ยว 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมิน รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์แก่นสาระ ผลการวิจัย พบว่า 1) ในชุมชนกุฎีจีนมีสถานที่สำคัญ 5 แห่ง ได้แก่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน โบสถ์ซางตาครู้ส เรือนจันทนภาพ และศาลเจ้าเกียนอันเกง ประกอบด้วย เส้นทางเดินเท้าและเส้นทางจักรยาน มีร้านอาหาร 11 ร้านที่ให้บริการอาหารทั่วไปและอาหารท้องถิ่น 2) อาหารท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาชุมชนและให้บริการในปัจจุบัน จำนวน 20 รายการ 3) ผลการประเมินโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารชุมชนกุฎีจีน 2 โปรแกรม พบว่า มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ในระดับมาก โดยมีข้อเสนอแนะให้เน้นความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ด้านอาหารในโปรแกรมเพิ่มขึ้น กาหนดเส้นทางที่สอดคล้องกับการเดินเท้าหรือการปั่นจักรยาน และชูประเด็นของอาหารท้องถิ่นที่ต้องการนำเสนอ งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้ทำป้ายสัญลักษณ์แสดงข้อมูลพื้นที่ ปรับปรุงเส้นทาง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลอาหารท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบัน และจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นในรูปแบบ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพกลุ่มเล็กที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของชุมชน