จำนวนงานวิจัย ( 3 )

การศึกษาการอบแห้งฟ้าทะลายโจรด้วยเครื่องอบแห้งแบบฟลูอิดไดซ์เบด
การศึกษาการอบแห้งฟ้าทะลายโจรด้วยเครื่องอบแห้งแบบฟลูอิดไดซ์เบด

ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก เนื่องจากมีรายงานผลการวิจัยพบว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยรักษาอาการไข้ที่เป็นอาการหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ฟ้าทะลายโจรจัดเป็นสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ทั่วทวีปเอเชีย โดยนิยมนําส่วนของใบและลำต้นใต้ดิน มาทำเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ สำหรับฟ้าทะลายโจรที่นำมาทำเป็นยารักษาโรคจะต้องผ่านวิธีทำให้แห้ง ในการทำให้แห้งปกติ ใช้วิธีการตากแดดตามธรรมชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดเวลาในการผลิต จะทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นโครงงานนี้จึงสนใจที่จะศึกษาการนำฟ้าทะลายโจรมาอบแห้งโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบฟลูอิดไดซ์เบด ซึ่งเครื่องอบแห้งชนิดนี้สามารถลดความชื้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเครื่องอบแห้งแบบฟลูอิดไดซ์เบด ที่จะทำการศึกษาจะมีอุปกรณ์ประกอบด้วย ชุดพัดลมโบลเวอร์ 2 HP ที่ความเร็วรอบสูงสุด 2,950 rpm เป่าลมผ่านฮีตเตอร์ทำความร้อนขนาด 6,000 W เกิดลมร้อนไปยังถังอบขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 33 cm สูง 150 cm ในการทดลองนี้ได้กำหนดน้ำหนักฟ้าทะลายโจรในการอบครั้งละ 500 g, 1,000 g, และ 2,000 g ทดลองฟ้าทะลายโจรที่น้ำหนักละ 2 ครั้ง ที่อุณหภูมิ 40 °C และ 50 °C ความเร็วลมร้อน ที่ผ่านถังอบ 1.5 m/s โดยจะบันทึกข้อมูลการทดลองทุก 15 min เพื่อหาความชื้นที่ลดลงต่อช่วงเวลา ผลการทดลองพบว่าที่น้ำหนักฟ้าทะลายโจร 2,000 g อุณหภูมิ 40 °C ใช้เวลาในการอบแห้ง 105 นาทีและอุณหภูมิ 50 °C ใช้เวลาในการอบแห้ง 60 นาที ที่อุณหภูมิเท่ากันเมื่อเพิ่มน้ำหนักฟ้าทะลายโจร ทำให้ใช้ระยะเวลาในการอบแห้งเพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มอุณหภูมิการอบแห้งจาก 40 °C เป็น 50 °C ทำให้ระยะเวลาในการอบแห้งลดลงและพบว่าการสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะมีค่าลดลงเนื่องจากใช้ระยะเวลาในการอบแห้งที่ 50 °C น้อยกว่า 40 °C

2566
การเปรียบเทียบสัมประสิทธิ์ความต้านทางการหมุนของยางล้อรถจักรยานยนต์ระหว่างยางไบแอสและยางเรเดียล
การเปรียบเทียบสัมประสิทธิ์ความต้านทางการหมุนของยางล้อรถจักรยานยนต์ระหว่างยางไบแอสและยางเรเดียล

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาและเปรียบเทียบผลการทดสอบที่ได้จากเครื่องทดสอบความต้านทานการหมุนของยางล้อรถจักรยานยนต์ โดยใช้เครื่องทดสอบหาความต้านทานการหมุนของยางล้อและประยุกต์ใช้มาตรฐาน ECE Regulation No.75 และ No.117 การทดลองครั้งนี้ใช้ตัวอย่างยางล้อ 3 ชนิด คือยางไบแอสสำหรับทางเรียบ,ยางไบแอสสำหรับทุกสภาพผิวถนนและยางเรเดียลสำหรับทางเรียบโดยทดลองที่สภาวะอุณหภูมิ 25°C ความเร็ว 80 km/hr ภายใต้แรงกดซึ่งอ้างอิงจากความสามารถการรับภาระของยางสูงสุด คือ 1.255kN และทดลองที่มุม 0°, 5°, 10° และ 15° จากการทดลองค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนของล้อรถจักรยานยนต์ขณะทำมุมต่างกัน พบว่ายางไบแอสสำหรับทางเรียบมีค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนมากที่สุด และยางเรเดียลสำหรับทางเรียบ ค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนน้อยที่สุด ส่วนค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนในแต่ละมุมแปรผันตามมุมเอียง

2566
ต้นแบบระบบตรวจสอบการปนเปื้อนในเมล็ดข้าวแบบอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มซีร่าคอร์
ต้นแบบระบบตรวจสอบการปนเปื้อนในเมล็ดข้าวแบบอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มซีร่าคอร์

คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมในท้องถิ่น พบว่าสามารถนำซีร่าคอร์มาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพัฒนาระบบสนับสนุนกระบวนผลิตได้ โดยเฉพาะในด้านการแปรรูปข้าวเปลือกโดยการสีข้าวผ่านโรงสี ปรากฏว่ามีขั้นตอนคัดแยกสิ่งปนเปื้อนออกจากเมล็ดข้าวที่แปรรูปออกมาเสร็จแล้ว ยังต้องการเทคโนโลยีสนับสนุนเพื่อให้การคัดแยกได้รับความสะดวกและคุณภาพมากขึ้น คณะผู้วิจัยจึงนำแนวคิดนี้มาจัดทำงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบตรวจสอบการปนเปื้อนของเมล็ดข้าวด้วยหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ หลักการทำงานของระบบเริ่มต้นจากตรวจสอบเมล็ดข้าวและประมวลผลภาพผ่านกล้องเว็บแคมด้วยแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ เมื่อระบบสามารถตรวจสอบเมล็ดข้าวได้แล้วจะจับภาพหน้าจอที่ระบบตรวจสอบได้ ส่งผลไปยังแอพพลิเคชันไลน์เพื่อผู้ใช้ดูผลลัพธ์ในของการตรวจสอบได้ ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้ใช้งานระบบพบว่าอยู่ในระดับดี ดังนั้นผลการศึกษาและวิจัยนี้สามารถใช้เป็นระบบต้นแบบของการนำแพลตฟอร์มซีร่าคอร์มาประยุกต์ใช้งาน และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการคัดแยกสิ่งปนเปื้อนในกระบวนการผลิตได้ รวมถึงเป็นแนวทางการพัฒนาและต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

2566