จำนวนงานวิจัย ( 104 )

การเปรียบเทียบสัมประสิทธิ์ความต้านทางการหมุนของยางล้อรถจักรยานยนต์ระหว่างยางไบแอสและยางเรเดียล
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ศึกษาและเปรียบเทียบผลการทดสอบที่ได้จากเครื่องทดสอบความต้านทานการหมุนของยางล้อรถจักรยานยนต์ โดยใช้เครื่องทดสอบหาความต้านทานการหมุนของยางล้อและประยุกต์ใช้มาตรฐาน ECE Regulation No.75 และ No.117 การทดลองครั้งนี้ใช้ตัวอย่างยางล้อ 3 ชนิด คือยางไบแอสสำหรับทางเรียบ,ยางไบแอสสำหรับทุกสภาพผิวถนนและยางเรเดียลสำหรับทางเรียบโดยทดลองที่สภาวะอุณหภูมิ 25°C ความเร็ว 80 km/hr ภายใต้แรงกดซึ่งอ้างอิงจากความสามารถการรับภาระของยางสูงสุด คือ 1.255kN และทดลองที่มุม 0°, 5°, 10° และ 15° จากการทดลองค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนของล้อรถจักรยานยนต์ขณะทำมุมต่างกัน พบว่ายางไบแอสสำหรับทางเรียบมีค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนมากที่สุด และยางเรเดียลสำหรับทางเรียบ ค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนน้อยที่สุด ส่วนค่าเฉลี่ยสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุนในแต่ละมุมแปรผันตามมุมเอียง

ต้นแบบระบบตรวจสอบการปนเปื้อนในเมล็ดข้าวแบบอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มซีร่าคอร์
คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมในท้องถิ่น พบว่าสามารถนำซีร่าคอร์มาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการพัฒนาระบบสนับสนุนกระบวนผลิตได้ โดยเฉพาะในด้านการแปรรูปข้าวเปลือกโดยการสีข้าวผ่านโรงสี ปรากฏว่ามีขั้นตอนคัดแยกสิ่งปนเปื้อนออกจากเมล็ดข้าวที่แปรรูปออกมาเสร็จแล้ว ยังต้องการเทคโนโลยีสนับสนุนเพื่อให้การคัดแยกได้รับความสะดวกและคุณภาพมากขึ้น คณะผู้วิจัยจึงนำแนวคิดนี้มาจัดทำงานวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบตรวจสอบการปนเปื้อนของเมล็ดข้าวด้วยหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกโดยแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ หลักการทำงานของระบบเริ่มต้นจากตรวจสอบเมล็ดข้าวและประมวลผลภาพผ่านกล้องเว็บแคมด้วยแพลตฟอร์มซีร่าคอร์ เมื่อระบบสามารถตรวจสอบเมล็ดข้าวได้แล้วจะจับภาพหน้าจอที่ระบบตรวจสอบได้ ส่งผลไปยังแอพพลิเคชันไลน์เพื่อผู้ใช้ดูผลลัพธ์ในของการตรวจสอบได้ ซึ่งผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้ใช้งานระบบพบว่าอยู่ในระดับดี ดังนั้นผลการศึกษาและวิจัยนี้สามารถใช้เป็นระบบต้นแบบของการนำแพลตฟอร์มซีร่าคอร์มาประยุกต์ใช้งาน และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการคัดแยกสิ่งปนเปื้อนในกระบวนการผลิตได้ รวมถึงเป็นแนวทางการพัฒนาและต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

การพัฒนาแอปพลิเคชันระบบติดตามการปลูกพืชเศรษกิจ พื้นที่เกษตรผสมผสาน หมู่บ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาแอปพลิเคชันระบบติดตามการปลูกพืชเศรษกิจ พื้นที่เกษตรผสมผสาน หมู่บ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันระบบติดตามการปลูกพืชเศรษกิจ ในพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน และเพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อแอปพลิเคชันระบบติดตามการปลูกพืชเศรษกิจ ในพื้นที่ทำการเกษตรผสมผสาน หมู่บ้านน้ำทรัพย์ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง จำนวน 30 คน ทำการวิเคราะหืและออกแบบระบบ โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ด้วยโปรแกรม AppSheet และใช้ Google Sheet เป็นฐานข้อมูลหลักทำการทดลองกับการปลูกกล้วยหอมทอง ผลการวิจัยพบว่า แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้น ใช้งานง่ายผ่านระบบสมาร์โฟน สามารถแจ้งเตือนกำหนดการต่างๆ ในการปลูกพืช และแจ้งเตือนผ่านระบบ LINE Notify ผลการประเมินประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน อยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อแอปพลิเคชันระบบติดตามการปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตรผสมผสาน หมู่บ้านน้ำทรัพย์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อยู่ในระดับมากที่สุด แอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ได้

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุที่สามารถรีไซเคิลด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุที่สามารถรีไซเคิลด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุรีไซเคิล โดยการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน และเพื่อพัฒนาคุณสมบัติที่เหมาะสมของต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุรีไซเคิล โดยแต่เดิมหากเรานำกระดาษใช้แล้วสองหน้าไปขายยังร้านรับซื้อของเก่าจะมีมูลค่าไม่มาก แต่หากนำมาเพิ่มมูลค่าโดยการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในอนาคตได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับสภาพเยื่อกระดาษด้วยความร้อน ที่อุณหภูมิประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 15 นาที เพื่อให้เยื่อกระดาษมีความอ่อนนุ่ม จากนั้นทำให้มีขนาดเล็กโดยการปั่นบดและย่อยเยื่อกระดาษ จากนั้นนำมาขึ้นรูปชิ้นงานเพื่อทดสอบ และจัดทำเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น กระดาษสาเทียม ที่ติดหลังโทรศัพท์มือถือ ที่วางโทรศัพท์มือถือแบบกลม ที่วางโทรศัพท์มือถือแบบเหลี่ยม และแจกันหกเหลี่ยม โดยชิ้นงานต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุรีไซเคิลทุกชิ้นนั้น มีความแข็งแรงไม่แตกหักง่าย และมีส่วนผสมของกระดาษใช้แล้วสองหน้า เศษวัสดุท้องถิ่นซีเมนต์ และน้ำจึงนับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะและเศษวัสดุรีไซเคิล

การพัฒนาเครื่องต้นแบบปัญญาประดิษฐ์สาหรับคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
การพัฒนาเครื่องต้นแบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์สำหรับพัฒนาต้นแบบเครื่องคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำต้นแบบเครื่องคัดแยกขยะรีไซเคิลไปใช้ภายในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะรีไซเคิลให้กับสถานศึกษา โดยการพัฒนาเครื่องต้นแบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับจัดการขยะรีไซเคิลอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การวิจัยนี้เป็นตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการจัดการ Zero Waste to Landfill ส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงรองรับนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Green & Clean Faculty) เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการส่งเสริมการจัดทำสำนักงานสีเขียว (Green Office) โดยการออกแบบเครื่องต้นแบบที่มีขนาดความกว้างเท่ากับ 78เซนติเมตร ความยาวเท่ากับ 112 เซนติเมตร และความสูง เท่ากับ 153 เซนติเมตร นำเทคนิคการถ่ายโอนการเรียนรู้จาก โครงข่ายประสาทเทียมแบบ VGG16 มาพัฒนาเพื่อให้ได้โมเดลที่เหมาะสมสำหรับการคัดแยกขยะรีไซเคิล ใช้ Microcontroller ARM Cortex-A72 ในการควบคุมการทำงาน ผลการทดสอบ การทำนายการคัดแยกขยะรีไซเคิลของโมเดลที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้อง ร้อยละ 89.33 และการทดสอบการทำงานของระบบของเครื่องต้นแบบสามารถทางานตามขอบเขตที่กำหนด โดยสามารถคัดแยกประเภทของขยะรีไซเคิลได้ตามวัตถุประสงค์