จำนวนงานวิจัย ( 104 )

การเปรียบเทียบคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขตภาคกลาง โดยใช้แผนการทดลองแบบบล็อกสุ่มสมบูรณ์
การเปรียบเทียบคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขตภาคกลาง โดยใช้แผนการทดลองแบบบล็อกสุ่มสมบูรณ์

การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาในเขต ภาคกลางจากแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก (แม่น้ำแม่กลอง) และแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันออก (แม่น้ำเจ้าพระยา) และความแตกต่างของฤดูกาล และจุดเก็บตัวอย่างน้ำ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำดิบสำหรับ การผลิตน้ำประปา โดยวิเคราะห์คุณภาพน้ำดิบจาก 5 พารามิเตอร์ ประกอบด้วย ค่าพีเอช (pH) ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ค่าความเค็ม (Salinity) ค่าความขุ่น (Turbidity) และค่าของแข็งละลายน้ำ (TDS) ทำการเก็บตัวอย่างน้ำจากจุดเก็บตัวอย่าง ครอบคลุม 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ผลการศึกษาพบว่า การเปรียบเทียบพารามิเตอร์ที่บ่งชี้คุณภาพน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก และแหล่งน้ำดิบตะวันออก ในฤดูหนาวพารามิเตอร์ทั้ง 5 ค่าที่ทำการศึกษา มีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 สำหรับในฤดูร้อน และฤดูฝน พารามิเตอร์ที่ทำการศึกษาจากแหล่งน้ำดิบทั้ง 2 แหล่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ยกเว้น ค่าความขุ่นไม่มีความแตกต่างกัน และเมื่อทำการเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพน้ำดิบ ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) พบว่า ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำดิบในพารามิเตอร์ที่ทำการศึกษา สำหรับแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันตก (แม่น้ำ แม่กลอง) ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าการนำไฟฟ้า ค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะฤดูร้อนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าพารามิเตอร์ มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และแหล่งน้ำดิบฝั่งตะวันออก (แม่น้ำเจ้าพระยา) ความแตกต่างระหว่างฤดูกาลจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็ม ค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำที่แตกต่างกัน โดยฤดูร้อนจะมีผลต่อค่าความเค็มมากที่สุด ขณะที่ฤดูหนาวจะมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงของค่าความขุ่น และค่าของแข็งละลายน้ำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05

2567
การออกแบบชุดการสาธิตเพื่อการศึกษาเครื่องมือวัดพื้นฐานในภาคอุตสาหกรรม
การออกแบบชุดการสาธิตเพื่อการศึกษาเครื่องมือวัดพื้นฐานในภาคอุตสาหกรรม

การศึกษาและพัฒนาการออกแบบชุดสาธิตเพื่อการศึกษาเครื่องมือวัดพื้นฐานในภาคอุตสาหกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างชุดการสาธิตที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิผล ชุดการสาธิตนี้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการมีความเข้าใจในเครื่องมือวัดพื้นฐานต่างๆ ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความแม่นยำ และความปลอดภัยในการใช้งาน การวิจัยครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือวัดที่ใช้ในอุตสาหกรรม จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์และออกแบบชุดการสาธิตที่ประกอบด้วยเครื่องมือวัดที่สำคัญ เช่น เวอร์เนียคาลิปเปอร์ ไมโครมิเตอร์ เกจวัดความหนา และเครื่องมือวัดอื่นๆ ที่จำเป็นในการตรววจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต ผลการศึกษาพบว่าชุดการสาธิตที่ออกแบบขึ้นสามารถช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจในหลักการมีวิธีการใช้งานเครื่องมือวัดพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ชุดการสาธิตยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานเครื่องมือวัดและลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น การออกแบบชุดการสาธิตนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอีกด้วย

2567
การแปรรูปผลิตภัณฑ์เส้นใยกก ไหม ฝ้าย ผักตบชวาสู่เชิงพาณิชย์โดยความร่วมมือของประชาชนในชุมชนตำบลคุ้งกระถิน อ.เมือง จังหวัดราชบุรีและชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
การแปรรูปผลิตภัณฑ์เส้นใยกก ไหม ฝ้าย ผักตบชวาสู่เชิงพาณิชย์โดยความร่วมมือของประชาชนในชุมชนตำบลคุ้งกระถิน อ.เมือง จังหวัดราชบุรีและชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างชุมชนให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ให้กับชุมชนมีความเข้มแข็งต่อไป กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประชาชนใน จำนวน 234 คน สุ่มอย่างง่ายตามตารางยามาเน่ และข้อมูลเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มชุมชน ประชาชนในกลุ่มชุมชน จำนวน 20 คน คณะผู้วิจัยได้สอบถามให้ได้มาซึ่งความต้องการของผู้บริโภคและตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและท้องตลาด แล้วประเมินรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน โดยปราชญ์ชาวบ้านที่ร่วมแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน จำนวน 3 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช ผ้าทอจากเส้นใยพืช จำนวน 3 ท่าน เพื่อประเมินความเหมาะสมของรูปแบบในการประยุกต์ เป็นผลิตภัณฑ์ จากนั้นสร้างต้นแบบแล้ว ประเมินผลวัดระดับความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์หัตถกรรม จากเส้นใยพืชที่มีในท้องถิ่นมาผสมผสานเส้นใยไหม เส้นใยฝ้าย ผสมผสานให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยสวยงามได้มาตรฐาน สามารถออกแบบได้ตรงกับความต้องการของท้องตลาด ผู้บริโภค ตรงตามท้องตลาดและผู้ประกอบการต้องการรับซื้อ การดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณควบคู่กันโดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ แบบประเมินความพึงพอใจ เป็นเครื่องมือวิจัย เพื่อเก็บรวบรวม ข้อมูลพิจารณาความเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญและความพึงพอใจจากกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน (SD) แปลผลในรูปความเรียง ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างในชุมชนกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช อำเภอเมือง จังหวัดนครนายกและกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี คิดว่าพืชในท้องถิ่นนี้เหมาะสมกับการนำไปทำผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ มีความต้องการประยุกต์ใช้วัสดุอื่น ๆ ในท้องถิ่นร่วมประกอบ กับตัวผลิตภัณฑ์และเส้นใยจากกก ไหม ฝ้าย ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีต่อการประเมินรูปแบบผลิตภัณฑ์ หัตถกรรมจากเส้นใยพืช โดยรวมอยู่ในระดับมาก พบว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับการใช้งาน การออกแบบผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม ลวดลายทันสมัย เป็นที่นิยม สามารถใช้สอยได้ มีความสะดวกสบายในการใช้ มีค่าเฉลี่ยระดับมาก ผลวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์เชิงลึกประชาชน ผู้นำชุมชน และปราชญ์ชาวบ้านทั้ง 2 จังหวัด มีดังนี้ 1) ต้องการสร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัว ชุมชน 2) ต้องการทุนงบประมาณสนับสนุนในการทำผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ 3) ต้องการวิทยาการหรือผู้เชี่ยวชาญมาสอนฝึกอบรมการสร้างผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ทันสมัยที่ตรงกับความต้องการของประชาชน ผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาให้ได้มาตรฐานสู่เชิงพาณิชย์ 4) ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืช เช่น แฝก ฝ้าย ไหม กก สับปะรด ให้มีความหลากหลายทันสมัยสวยงาม เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องประดับ เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ทันสมัยตรงกับความสนใจและต้องการของท้องตลาด 5) ต้องการสถานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะ กลุ่มตัวอย่าง ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ที่ทันสมัยเป็นที่นิยมของท้องตลาดผู้ประกอบการ มีสถานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์เป็นประจำต่อเนื่อง ต้องการได้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นใยพืชที่มีในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถ ทำให้บุคลากรในชุมชนมีไหวพริบมีความถนัด จนสามารถได้รับความรู้จากวิทยากรได้รวดเร็ว และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชนได้ต่อไปจนรุ่นสู่รุ่น และต้องการให้รัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ต้นทุนการผลิต อุปกรณ์การผลิต ครุภัณฑ์ ที่เพียงพอสำหรับทำงานต้นแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่งคง ยั่งยืนตลอดไป เพื่อพัฒนาและสามารถฝึกทักษะการพัฒนาการผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐาน ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับของท้องตลาดผู้ประกอบการ ด้านการตลาด สามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้หลากหลาย ให้สะดวกรวดเร็วในการสั่งซื้อ เช่น ออนไลน์ เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ต้องการงบประมาณสนับสนุนในช่วงดำเนินการ ให้สามารถทำงานได้สำเร็จ และได้กำไร พอที่จะลงทุนการผลิตได้ด้วยตนเอง เพราะยังไม่เคยได้รับการสนับสนุน ขาดเงินงบประมาณในการดำเนินการต่อไปให้สำเร็จ การแก้ปัญหาต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และผู้ประกอบการร่วมมือกับชุมชน ช่วยจัดจำหน่ายขายผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนเป็นประจำ ความต้องการของผู้บริโภคและผู้รับซื้อทั้งปลีกและส่ง และมีความต้องการประยุกต์ใช้วัสดุอื่น ๆ ในท้องถิ่นร่วมแปรรูปผลิตภัณฑ์จาก เส้นใยจากกก ไหม ฝ้าย เพื่อให้มีความประณีต ละเอียดและมีความสวยงาม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน ให้มีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอดไป

2567
การทำนายจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษา ในหลักสูตรปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์
การทำนายจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษา ในหลักสูตรปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์

งานวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยภายใต้การบูรณาการศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่องบนพื้นฐานการเรียนรู้แบบมีผู้สอนในงานทำนายข้อมูลจำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์จากระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย หรือระบบ TCAS จำนวน 6 ปีการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2561-2566 โดยใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2561-2565 เป็นข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ และข้อมูลปี พ.ศ. 2566 เป็นข้อมูลสำหรับทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาแบบจำลองด้วยภาษาไพธอนร่วมกับไลบรารีการเรียนรู้ของเครื่องและการเรียนรู้เชิงลึก ดำเนินการเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลการทำนายข้อมูล จำนวน 5 แบบจำลอง ประกอบด้วย 1) แบบจำลองสุ่มป่าไม้ 2) แบบจำลองเพื่อนบ้านใกล้สุด 3) แบบจำลองซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชัน 4) แบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมเพอร์เซฟตรอนแบบหลายชั้น และ 5) แบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบความจำขนาดสั้นระยะยาว ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า แบบจำลองสุ่มป่าไม้มีประสิทธิภาพในการทำนายสูงสุดในทุกมิติ ของการทดสอบ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การทำนาย (Coefficient of Determination; R2) ร้อยละ 93 และ ค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย (MSE) เท่ากับ 944 ราย แบบจำลองเพื่อนบ้านใกล้สุดแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพรองลงมา โดยมีค่า R2 ร้อยละ 90 และค่า MSE เท่ากับ 1,414 ราย ส่วนแบบจำลองซัพพอร์ตเวกเตอร์รีเกรสชันมีประสิทธิภาพรองลงมามีค่า R2 ร้อยละ 89 และค่า MSE เท่ากับ 1,614 ราย ในส่วนประสิทธิภาพการทำนายของแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมแบบความจำขนาดสั้นระยะยาว และแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียมเพอร์เซฟตรอนแบบหลายชั้นแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ค่อนข้างต่ำโดยมีค่า R2 ร้อยละ 88 และร้อยละ 82 มีค่า MSE เท่ากับ 1,688 ราย และ 2,495 ราย ตามลำดับ

2567
การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน วิชาเอกเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นของหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน วิชาเอกเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน วิชาเอกเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน คือ การวิจัยเชิงสำรวจ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากล่มย่อย ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. กลุ่มตัวอย่างจำนวน 107 คน สนใจในการทำงานเบื้องหลังโฆษณา หรือกองถ่ายทำมากที่สุด จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 23.94 แต่กลุ่มตัวอย่างไม่รู้จักคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จำนวน 76 คน คิดเป็นร้อยละ 71.03 สำหรับการเปิดรับสื่อ พบว่าเปิดรับสื่อบุคคลมากที่สุด จำนวน 49 คน คิดเป็นร้อยละ 62.03 นอกจากนี้พบว่า เพื่อน/รุ่นพี่ เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาต่อของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 37.40 รองลงมา คือ สื่อสังคมออนไลน์ และข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จำนวน 30 คน คน คิดเป็นร้อยละ 28.04 ด้านการจัดการศึกษาพบว่าหลักสูตรตรงตามความต้องการของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 36.40 และความต้องการศึกษาเฉพาะสาขาวิชาเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 43.00 สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษา กลุ่มตัวอย่างต้องการให้พิจารณาจากค่าเฉลี่ยสะสม (GPA) อยู่ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 37.40 และต้องการศึกษาในเวลาราชการ (จันทร์-ศุกร์ 8.00-16.30 น.) อยู่ในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.40 2. ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้เรียน พบว่า หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตของคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน วิชาเอกเทคโนโลยีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์และคุณวุฒิของอาจารย์มีความเหมาะสม โดยผู้เรียนสนใจวิชาปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีและไม่สนใจวิชากลุ่มศึกษาทั่วไป ส่วนผลการสนทนากลุ่มย่อย ผู้เชี่ยวชาญพบว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์เข้าสู่ยุคดิจิทัลมีเดีย ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพด้านการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ คือ ทักษะด้านดิจิทัลมีเดีย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การคิดวิเคราะห์ การเขียนเนื้อหาในสื่อออนไลน์ (Content) การรู้จักใช้สื่อ หรือ การใช้เครื่องมือแต่ละประเภท เป็นคนทันสมัยทันข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน และเป็นคนอยากเรียนรู้เพิ่มตลอดชีวิต

2567